รณรงค์ยกเลิกการจัดเก็บภาษีผ้าอนามัยทุกรูปแบบ

รณรงค์ยกเลิกการจัดเก็บภาษีผ้าอนามัยทุกรูปแบบ

สร้างแล้ว
23 กรกฎาคม ค.ศ. 2021
ผู้สนับสนุน 62,193เป้าหมายต่อไป 75,000
เข้าร่วมสนับสนุนเดี๋ยวนี้

ทำไมแคมเปญรณรงค์นี้ถึงมีความสำคัญ

สร้างโดย Narudee Chintavirochana

อัพเดตนะคะ (27 ก.ค. 2564) - ตอนนี้รัฐชี้แจงแล้วว่า ผ้าอนามัยแบบสอด ไม่เก็บภาษีฟุ่มเฟือย คือยังเก็บภาษี VAT 7% เหมือนเดิมค่ะ แต่ประเด็นสำคัญที่อยากนำเสนอคือ ผ้าอนามัยควรเป็นสินค้าที่เป็นรัฐสวัสดิการ รัฐควรมีนโยบายแจกฟรี เพื่อให้ผู้หญิงทุกคนมีสิทธิเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม

ปัจจุบันมีผู้หญิงอีกจำนวนไม่น้อยที่เข้าไม่ถึงผ้าอนามัย และเสียโอกาสจากการทำงานหรือไปเรียนในบางวัน เนื่องจากเป็นสินค้าที่มีราคาค่อนข้างแพง หากเทียบกับอัตราค่าครองชีพขั้นต่ำในไทยค่ะ เพราะฉะนั้นแล้วไปต่อค่ะ อย่าหยุดค่ะทุกคนนน

---------------------------------------

เชิญร่วมลงชื่อรณรงค์ยกเลิกการจัดเก็บภาษีผ้าอนามัยทุกรูปแบบ

เนื่องจากผ้าอนามัยเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้หญิงทุกคน ผ้าอนามัยจึงควรเป็นสวัสดิการจากภาครัฐมากกว่าสินค้าที่ต้องเรียกเก็บภาษี

เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม ที่ผ่านมาเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ออกประกาศกฎกระทรวง เพื่อกำหนดให้ “ผ้าอนามัยแบบสอด” เป็นเครื่องสำอาง ตามมาตรา 4 และมาตรา 5 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ. 2558  โดยให้ไว้เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2564 โดย นาย อนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

โดยให้เหตุผลว่าการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ว่า บทนิยามคำว่า “เครื่องสำอาง” ในมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ. เครื่องสำอางฯ ได้บัญญัติให้วัตถุอื่นที่กำหนดโดยกระทรวงเป็นเครื่องสำอาง และมีความจำเป็นต้องควบคุมคุณภาพและมาตรฐานของผ้าอนามัยชนิดสอดเพื่อให้สามารถคุ้มครองความปลอดภัยและอนามัยของผู้บริโภคได้ สมควรกำหนดให้เป็นเครื่องสำอาง จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้

จากประกาศดังกล่าวอาจทำให้ต้องมีภาระเสียภาษีเพิ่มมากขึ้น ซึ่งอัตราภาษีของผ้าอนามัยอยู่ที่ 30% ทั้งที่เป็นของจำเป็นที่ผู้หญิงทุกคนต้องใช้กันเป็นประจำทุกเดือน โดยลักษณะเฉพาะของผ้าอนามัยแบบสอด คือ สามารถใส่ทำกิจกรรมกีฬาต่าง ๆ ได้สะดวกขึ้นและลดปัญหาความเลอะเทอะ โดยผ้าอนามัยแบบสอดนั้น อย. ของสหรัฐฯ ได้จัดให้เป็นเครื่องมือแพทย์เพื่อควบคุมการผลิตให้ได้มาตรฐาน

จึงขอเชิญชวนให้ภาคประชาชน ไม่ว่าจะเป็นเพศใดร่วมกันลงชื่อเพื่อคัดค้านการนำผ้าอนามัยแบบสอดมาเป็นเครื่องสำอางตามกฎกระทรวงฯดังกล่าว เพื่อป้องกันมิให้มีการเก็บภาษีอย่างไม่เป็นธรรม ดังนี้

1.ยกเลิกกฎกระทรวงฯข้อที่เกี่ยวข้องกับการนำผ้าอนามัยแบบสอด และ/หรือผ้าอนามัยแบบอื่น ๆ ที่ถูกระบุในหมวดเครื่องสำอางทั้งหมด

2.รัฐบาลควรมีนโยบายแจกผ้าอนามัยฟรีให้กับประชาชน เป็นสวัสดิการขั้นพื้นฐาน

3.รัฐบาลควรยกเลิกการเก็บภาษีผ้าอนามัยทุกรูปแบบทั้งหมด เพื่อให้มีราคาถูกลงและทุกคนสามารถเข้าถึงได้

ก่อนหน้านี้มีการออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องเกี่ยวกับปัญหาของราคาผ้าอนามัยกันมากขึ้น เนื่องจากสำหรับผู้มีรายได้น้อยหรือไม่ได้ทำงานประจำจึงถือว่าการซื้อผ้าอนามัยเป็นภาระอย่างหนึ่ง แม้ว่าจะผ้าอนามัยจะเป็นสินค้าควบคุมตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ และมีการเก็บภาษีอย่างเหมาะสมแต่ก็ยังคงเป็นปัญหาอยู่ และการยกเลิกภาษีผ้าอนามัยก็ยังไม่ใช่ทางออก เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงผ้าอนามัยของผู้หญิงทุกคน รัฐบาลควรจัดให้เป็นสวัสดิการขั้นพื้นฐานด้วยการแจกฟรี เช่นเดียวกับการแจกถุงยางอนามัยฟรี เพราะผู้หญิงทุกคนไม่สามารถหลีกเลี่ยงการมีประจำเดือนได้ ทุกเดือนที่มีประจำเดือน สิ่งที่สำคัญและจำเป็นที่สุดคือ ผ้าอนามัย โดยเฉลี่ยการเป็นประจำเดือนแต่ละเดือนคือประมาณ 4 – 6 วัน และเพื่อสุขอนามัยที่ดีจำเป็นต้องเปลี่ยนผ้าอนามัยทุก ๆ 2 – 3 ชั่วโมง เท่ากับเฉลี่ยแล้วใน 1 วัน จะต้องใช้ผ้าอนามัยอย่างน้อย 5 แผ่น และใครที่มีประจำเดือนมากกว่าปกติอาจจะต้องใช้ผ้าอนามัยมากถึง 7 แผ่น ต่อวัน

ปัจจุบันผ้าอนามัยที่ขายอยู่ตามท้องตลาดมีราคาแตกต่างกันตามลักษณะเฉพาะของผ้าอนามัยแต่ละแบบ มีราคาเริ่มต้นประมาณ 40 บาทต่อ 1 ห่อ เฉลี่ยการมีประจำเดือน 1 ครั้ง ใช้ผ้าอนามัยประมาณ 40 แผ่น มีราคาอยู่ที่ประมาณ 400 บาท

ราคาของผ้าอนามัยจะถูกหรือแพงขึ้นอยู่กับรายได้แต่ละบุคคล โดยเฉลี่ยค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่ 336 บาท ต่อวัน หรือ 10,080 บาท ต่อเดือน ดังนั้นการซื้อผ้าอนามัยถือเป็น 4% ของรายได้ต่อเดือน นี่เป็นการคำนวนจากค่าแรงขั้นต่ำเท่านั้น

ปัญหาในการเข้าถึงผ้าอนามัยของผู้มีรายได้น้อย จากตัวอย่างในต่างประเทศ เช่น จากรายงานข่าวจาก Metro เปิดเผยว่า ครูหลายคนได้ชี้ให้เห็นความสัมพันธ์โดยตรงระหว่างการขาดเรียนของเด็กหญิงกับช่วงเวลามีประจำเดือน ผลสำรวจจากองค์กรธนาคารอาหารดาร์ลิงตัน (Darlington Salvation Army Food Bank) ระบุว่า ผู้หญิงในสหราชอาณาจักรหลายคนต้องใช้ระดาษหนังสือพิมพ์ ผ้าเช็ดหน้า หรือถุงเท้าเก่าแทนผ้าอนามัย หรือ นายกรัฐมนตรีจาซินดา อาร์เดิร์น ของนิวซีแลนด์ กล่าวว่า ผลการวิจัยเผยให้เห็นว่า นักเรียนหญิงราว 1 ใน 12 คนต้องหยุดเรียนเนื่องจากไม่มีผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับรอบเดือนใช้เพราะฐานะยากจน จากกรณีตัวอย่างที่ยกมานี้ได้นำไปสู่การผ่านร่างกฎหมายผ้าอนามัยฟรีในประเทศสก๊อตแลนด์

ประเทศต้นแบบที่ใช้เป็นกรณีศึกษาคือ สกอตแลนด์ซึ่งเป็นที่แรกในโลกที่จะมีผ้าอนามัยแบบต่าง ๆ ทั้งแบบแปะและแบบสอดให้บริการฟรี ภายหลังได้รับการโหวตเห็นชอบจากสภาฯ ด้วยคะแนนเสียงท่วมท้น เห็นด้วย 112 เสียง งดออกเสียง 1 และไม่มีใครคัดค้านเลย กฎหมายนี้เกิดขึ้นหลังจากการเรียกร้องว่า ผ้าอนามัยเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้หญิง และไม่ควรถูกเก็บภาษีในอัตราเดียวกับสินค้าฟุ่มเฟือย โดยมีผลสำรวจพบว่า ผู้หญิงกว่า 25% ในอังกฤษ สกอตแลนด์ และเวลส์ ไม่สามารถไปทำงานหรือไปโรงเรียนได้ เพราะไม่สามารถซื้อผ้าอนามัยได้ทันเมื่อเป็นประจำเดือน

สำหรับผ้าอนามัยฟรีสามารถรับได้ที่โรงเรียน มหาวิทยาลัย ร้านขายยา ศูนย์เยาวชน ฯลฯ สกอตแลนด์ประเมินว่า จะต้องใช้เงิน 9.7 ล้านปอนด์ต่อปี หรือประมาณ 400 ล้านบาท สำหรับอุดหนุนในส่วนนี้

นอกจากนี้ยังมีประเทศนิวซีแลนด์ที่รัฐบาลจะเริ่มแจกผ้าอนามัยในโรงเรียนตั้งแต่เดือนมิถุนายนปีนี้ โดยจะใช้งบประมาณ 25 ล้านดอลลาร์นิวซีแลนด์ หรือประมาณ 540 ล้านบาท ในช่วงเวลา 3 ปี หลังจากโครงการนำร่องแจกผ้าอนามัยให้กับ 15 โรงเรียนเมื่อปีที่แล้วประสบความสำเร็จอย่างดี ทำให้นักเรียนมาโรงเรียนเพิ่มขึ้นและผลการเรียนดีขึ้น โดยนายกรัฐมนตรีจาซินดา อาร์เดิร์น ของนิวซีแลนด์ กล่าวว่า "เด็กสาวไม่ควรขาดการศึกษาด้วยสาเหตุจากขาดสิ่งสามัญในชีวิตประจำวันสำหรับประชากรครึ่งหนึ่งของประเทศ"

สำหรับประเทศที่มีนโยบายลักษณะคล้ายกันก็คือประเทศอินเดียที่ยกเลิกการเก็บภาษี 12% ในผลิตภัณฑ์สุขอนามัยทุกชนิดแล้ว หลังนักเคลื่อนไหวรณรงค์ติดต่อกันมานานหลายเดือน จากสาเหตุที่ว่าการมีประจำเดือนเป็นหนึ่งในเหตุผลแรก ๆ ที่เด็กหญิงจำนวนมากต้องละทิ้งการศึกษาในประเทศอินเดีย ขณะที่เด็กหญิงอีกหลายคนต้องอยู่ที่บ้าน เพราะไม่มีผ้าอนามัยใช้ตอนมีประจำเดือน ผู้หญิงบางส่วนใช้เศษผ้า หรือ กระดาษหนังสือพิมพ์ ซึ่งถ้าไม่สะอาด ก็อาจเพิ่มความเสี่ยงของการติดเชื้อได้ ดังนั้นเมื่อรัฐบาลจัดให้ผ้าอนามัยอยู่ในรายการสินค้าฟุ่มเฟือย และมีการเก็บภาษี 12% จึงทำให้เกิดการรณรงค์เรียกร้องให้ยกเลิกการเก็บภาษีขึ้นในทันที รวมถึง มีการฟ้องศาลและร้องเรียนจำนวนมาก โดยหนึ่งในการร้องเรียนมีผู้ร่วมลงชื่อมากกว่า 4 แสนรายชื่อ

ดังนั้นการจัดให้ผ้าอนามัยแบบสอดกลายเป็นเครื่องสำอางเพื่อการจัดเก็บภาษีจึงถือว่าเป็นการเพิ่มภาระให้กับประชาชน รวมถึงสร้างความเหลื่อมล้ำในสังคมมากยิ่งขึ้น ทางเราจึงอยากเชิญผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับประกาศกฎกระทรวงนี้ ร่วมลงชื่อให้ถึง 50,000 รายชื่อ เพื่อนำไปยื่นต่อคณะกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ สำนักกรรมาธิการ 3 สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร

เสียงของทุกคนมีความหมาย ร่วมรณรงค์ไปกับพวกเรา #ผ้าอนามัยไม่มีภาษี #เสียเลือดไม่เสียเงิน

ลิงก์ประกอบประกาศราชกิจจานุเบกษา : http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2564/A/048/T_0016.PDF

เข้าร่วมสนับสนุนเดี๋ยวนี้
ผู้สนับสนุน 62,193เป้าหมายต่อไป 75,000
เข้าร่วมสนับสนุนเดี๋ยวนี้
แชร์แคมเปญรณรงค์นี้ด้วยตัวคุณเองหรือใช้รหัสคิวอาร์นี้ในสื่อของคุณดาวน์โหลดรหัสคิวอาร์

ผู้มีอำนาจตัดสินใจ