กบฏผู้มีบุญอีสาน ผู้นำตั้งตนเป็นผู้วิเศษ-พระศรีอริยเมตไตรย สู่จดหมายลูกโซ่ยุคแรกในไทย

กบฏผู้มีบุญ หรือ กบฏผีบุญ ภาคอีสาน ทหาร ปราบปราม อุบลราชธานี
พวกกบฏ “ผีบุญ” เมื่อ พ.ศ. 2444 ซึ่งทหารควบคุมตัวไว้ ณ ทุ่งศรีเมือง เมืองอุบลราชธานี (ภาพจาก "ประวัติศาสตร์อีสาน" โดย เติม วิภาคย์พจนกิจ)

กบฏผู้มีบุญ เป็นเรื่องที่มีผู้สนใจศึกษา เช่นบทความ กบฏผู้มีบุญอีสาน ผู้นำตั้งตนเป็นผู้วิเศษ-พระศรีอริยเมตไตรย สู่จดหมายลูกโซ่ยุคแรกในไทย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของรายงานการวิจัย ประวัติศาสตร์อีสาน 2322-2488 ขอขอบคุณศูนย์วิจัยพหุลักษณ์สังคมลุ่มน้ำโขง มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนโครงการวิจัยนี้

หมายเหตุ : ย่อหน้า เว้นวรรค และเน้นคำ โดย กอง บก.ออนไลน์ 


 

ภาคอีสานเป็นภาคที่มี “กบฏผู้มีบุญ” มากกว่าทุกภาคของประเทศไทย นับตั้งแต่กบฏผู้มีบุญครั้งแรกใน พ.. 2242 รัชสมัยสมเด็จพระเพทราชา จนถึง พ.. 2502 มี “กบฏผู้มีบุญ” เกิดขึ้นในภาคอีสานถึง 9 ครั้ง ในช่วงเวลา 260 ปี คือ

1. กบฏบุญกว้าง พ.. 2242

2. กบฏเชียงแก้ว พ.. 2334 (รัชกาลที่ 1)

3. กบฏสาเกียดโง้ง พ.. 2360 (รัชกาลที่ 2)

4. กบฏสามโบก ประมาณ พ.. 2442-44 (รัชกาลที่ 5)

5. กบฏผู้มีบุญอีสาน .. 2444-45 (รัชกาลที่ 5)

6. กบฏหนองหมากแก้ว พ.. 2467 (รัชกาลที่ 6)

7. กบฏหมอลำน้อยชาดา พ.. 2479 (รัชกาลที่ 8)

8. กบฏหมอลำโสภา พลตรี พ.. 2483 (รัชกาลที่ 8)

9. กบฏศิลา วงศ์สิน พ.. 2502 (รัชกาลที่ 9)

แต่กบฏผู้มีบุญอีสานที่ขยายความเชื่อได้กว้างขวางที่สุดคือ กบฏผู้มีบุญอีสาน .. 2444-2445 โดยมีผู้ตั้งตัวเป็น ผู้มีบุญ ถึง 60 คน กระจายอยู่ถึง 13 จังหวัด คือ อุบลราชธานี 14 คน ศรีสะเกษ 12 คน มหาสารคาม 10 คน นครราชสีมา 5 คน กาฬสินธุ์ สุรินทร์ จังหวัดละ 4 คน ร้อยเอ็ด สกลนคร จังหวัดละ 3 คน ขอนแก่น นครพนม อุดรธานี ชัยภูมิ และบุรีรัมย์ จังหวัดละ 1 คน [1] เพราะเหตุใดการกบฏจึงขยายออกไปทั้งเกือบทุกจังหวัดของภาคอีสาน มากกว่ากบฏผีบุญทุกครั้ง พวก “กบฏผู้มีบุญ” น่าจะมีวิธีการขยายความเชื่อเพื่อถึงคนเข้ามาร่วมให้มากที่สุด จึงเป็นประเด็นที่น่าสนใจซึ่งผู้เขียนจะเน้นในบทความ

เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจภาพรวมของ “กบฏผู้มีบุญ” ครั้งนี้ทั้งหมด จึงจะกล่าวถึงความหมายของกบฏผู้มีบุญ สาเหตุของการกบฏ เป้าหมายของกบฏ การปราบปรามของทางการ และผลของกบฏครั้งนี้ โดยใน 5 ประเด็นหลังจะกล่าวพอสังเขป

ความหมายของ “กบฏผู้มีบุญ”

กบฏโดยทั่วไป หมายถึงกลุ่มคนที่คิดและกระทำการต่อต้านล้มล้างอำนาจรัฐด้วยกำลัง เช่น กบฏเจ้าอนุวงศ์ (.. 2369-71) กบฏปัตตานี (.. 2332) กบฏไทรบุรี (.. 2364, 2373-75, 2381-82) แต่กบฏผู้มีบุญ หัวหน้ากบฏหรือกลุ่มผู้นำฝ่ายกบฏตั้งตัวเป็นผู้มีบุญหรือผู้วิเศษ เช่น เป็นพระศรีอริยเมตไตรย หรือพระศรีอาริย์ ซึ่งตามความเชื่อของศาสนาพุทธนิกายเถรวาทเชื่อว่าเป็นพระพุทธเจ้าที่จะมาตรัสรู้ในอนาคต

เมื่อมีคนมาเชื่อเข้าเป็นสมาชิกหรือสานุศิษย์มากพอก็ใช้กำลังโจมตียึดเมือง เพื่อตั้งกลุ่มของตนเข้าปกครองแทน แต่หลายกลุ่มยังไม่โจมตีเจ้าหน้าที่ฝ่ายรัฐ ก็ถูกปราบปรามเสียก่อน เช่น ในเดือนมีนาคม พ.. 2444 (2445) กลุ่มพระแสงตั้งตัวเป็นพระโพธิสัตว์ นายธรรมาตั้งตัวเป็นท้าวอินแปลง นายสาเป็นท้าวสีโห นายหลักเป็นพระยาธรรมิกราช นายบัวลาเป็นพระเกตุสัตฐา มีราษฎร 160 คน บ้านบาหาด เมืองมหาสารคามเข้ามาเป็นพวก พอเจ้าหน้าที่จับกลุ่มผู้นำบางคนไปขัง ผู้นำที่เหลือพาราษฎร 160 คน มาแย่งตัวผู้ต้องหาหลบหนีไป กลุ่มกบฏก็สลายตัว [2]

สาเหตุของ “กบฏผู้มีบุญ” อีสาน .. 2444-2445

สาเหตุของกบฏผู้มีบุญครั้งนี้ มิได้เกิดจากสาเหตุเดียว แต่เกิดจากสาเหตุหลายอย่างประกอบกัน จากเอกสารเป็นจำนวนมาก พอสรุปได้ดังนี้

1. สาเหตุทางการเมือง อาจจำแนกได้ 2 ประการ คือ การเมืองภายนอกประเทศ ได้แก่ การขยายอำนาจอย่างน่ากลัวของจักรวรรดินิยมฝรั่งเศสสู่อินโดจีน ยึดเวียดนามใต้ไปปกครอง ต่อมาก็เข้ามายึดเขมรซึ่งเป็นประเทศราชของไทยในปลายสมัยรัชกาลที่ 4 (2410) ต่อมาก็ยึดสิบสองจุไทยใน พ.. 2431 สมัยรัชกาลที่ 5 และที่รุนแรงมากคือ ยึดฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง (คือประเทศลาวในปัจจุบัน) ใน พ.. 2436

หลังจากนั้นจากช่องโหว่ของสนธิสัญญาไทยฝรั่งเศส ฉบับ 3 ตุลาคม พ.. 2436 ซึ่งฝรั่งเศสสร้างขึ้น เพื่อจงใจที่จะขยายอำนาจเข้ามาในภาคอีสาน ทำให้ไทยไม่สามารถมีกำลังทหารในเขตรัศมี 25 กิโลเมตรทางฝั่งขวา แม้กระทั่งจะเก็บภาษีในพื้นที่ดังกล่าวก็ไม่ได้ [3]

นอกจากนี้ข้าราชการฝรั่งเศสและเอเย่นต์ฝรั่งเศส ยังใช้กำลังข่มเหงคนไทยและข้าราชการไทยในภาคอีสานที่อยู่ในเขต 25 กิโลเมตรด้วย ต่อมาก็เกิดข่าวลือว่าผู้มีบุญจะมาแต่ตะวันออก เจ้าเก่าหมดอำนาจ ศาสนาก็สิ้นแล้วบัดนี้ฝรั่งเศสเข้าไปเต็มกรุงเทพฯ แล้ว กรุงจะเสียแก่ฝรั่งเศสแล้ว” [4]

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ข้าหลวงต่างพระองค์สำเร็จราชการมณฑลอีสาน (ภาพจากหอสมุดแห่งชาติ)

อำนาจที่ถดถอยลงของรัฐบาลไทยในสายตาของชาวอีสาน จึงเห็นเป็นโอกาสที่จะรวมพลังกันต่อต้านจึงได้เกิดขึ้น

ส่วน ประเด็นสาเหตุจากภายใน ก็คือ การปฏิรูปการปกครองของรัชกาลที่ 5 เพื่อให้ระบบการปกครองกระชับ ส่วนกลางสามารถควบคุมหัวเมืองได้เต็มที่ โดยการส่งข้าหลวงใหญ่และข้าราชการเป็นจำนวนมากมาทำงานในภาคอีสาน ทำให้ขุนนางท้องถิ่นไม่พอใจ ยิ่งส่วนกลางส่งคนมาเก็บภาษีต่างๆ โดยตรง ยิ่งทำให้ขุนนางท้องถิ่นไม่พอใจยิ่งขึ้น เพราะผลประโยชน์ที่เคยได้รับลดลงมาก เช่น ภาษีส่วย หรือเรียกในตอนนั้นว่าเงินข้าราชการซึ่งชายฉกรรจ์อีสานจะต้องเสียคนละ 4 บาท ขุนนางท้องถิ่น 7-8 ตำแหน่ง ได้รับรวมกันเพียง 55 สตางค์ หรือร้อยละ 13.67 เท่านั้น ส่วนกลางได้รับถึง 3.45 บาท หรือร้อยละ 86.33 [5]

2. สาเหตุด้านสังคมเศรษฐกิจ ประเด็นที่สร้างความเดือดร้อนให้กับชาวอีสานเป็นอันมาก คือ ภาษีส่วยหรือเงินข้าราชการที่เก็บจากชายฉกรรจ์คนละ 4 บาท (มูลค่าปัจจุบันประมาณ 3,500-4000 บาท) ที่เดือดร้อนเพราะคนอีสานสมัยนั้นเกือบทั้งหมดมีชีวิตอยู่ได้โดยไม่ต้องใช้เงิน เพราะผลิตปัจจัยสี่ได้เอง อยู่ในระบบเศรษฐกิจแบบพอเพียง มีแต่คนที่อยู่ในเมืองซึ่งมีจำนวนน้อยมากที่ต้องใช้เงิน

เหตุนี้ ชายฉกรรจ์อีสานในชนบทจึงลำบากมากในการหาเงินมาเสียภาษีส่วย 4 บาท เช่น ผู้เฒ่าคนหนึ่งอายุเกือบ 100 ปี ให้สัมภาษณ์ผู้เขียนเมื่อ 23 ปีที่แล้วว่า ท่านต้องหาบไก่ 16 ตัว เดินทาง 140 กิโลเมตร จากอำเภอมัญจาคีรี เอาไปขายที่ตลาดเมืองโคราชตัวละ 1 สลึง ได้เงินมาเสียภาษีส่วย 4 บาทดังกล่าว สำหรับคนไม่มีเงินเสียภาษีดังกล่าวก็ถูกเกณฑ์ไปทำงานโยธา 15 วัน เช่น ขุดสระน้ำ (เช่น บึงผลาญชัย จังหวัดร้อยเอ็ด) สร้างถนน สนามบิน ถางหญ้าข้างศาล เป็นต้น [6]

ประกอบกับช่วงก่อนเกิดกบฏผู้มีบุญเกิดฝนแล้งในมณฑลอีสานติดต่อกัน 2-3 ปี [7] ยิ่งเป็นการซ้ำเติมความเดือดร้อนให้กับชาวอีสาน เมื่อมีคนมาปลุกระดมในรูปหมอลำ ทำให้ชาวอีสานเกิดความหวังว่าจะมีชีวิตที่ดีขึ้น (นักการเมืองไทยปัจจุบันก็ทำอย่างนี้) จึงมีชาวอีสานเป็นจำนวนมากเชื่อตาม บางส่วนก็เข้าร่วมกระบวนการไปเลย

เป้าหมายของฝ่าย “กบฏผู้มีบุญ”

เมื่อพูดถึงเป้าหมายของฝ่ายกบฏต้องพิจารณาว่าเป้าหมายของใคร เพราะฝ่ายกบฏมีหลายกลุ่มและหลายระดับ

หากพิจารณาในกลุ่มผู้นำ อาจแบ่งได้ 3 กลุ่ม กล่าวคือ กลุ่มองค์มั่น ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีอำนาจมากที่สุด มีเขตอิทธิพลอยู่ในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี อำนาจเจริญ และบางส่วนของมุกดาหารและลาวใต้ริมแม่น้ำโขงฝั่งซ้ายในปัจจุบัน กลุ่มนี้มีเป้าหมายชัดเจนมากคือขับไล่อำนาจของไทยออกไป โดยเฉพาะการยึดเมืองอุบลราชธานีศูนย์กลางอำนาจของไทยในอีสานตะวันออกแล้วตั้งรัฐขึ้นมาใหม่ โดยจะให้องค์มั่นปกครองอยู่ที่เวียงจันทน์ สมเด็จลุนวัดบานไชยปกครองที่อุบลราชธานี องค์เล็ก (เหล็ก) บ้านหนองซำปกครองที่หนองโสน (เมืองอยุธยา) องค์พระบาทและองค์คุธปกครองที่พระธาตุพนม [8] ส่วนลาวใต้ด้านฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง ถ้าขับไล่ฝรั่งเศสออกไปได้ องค์แก้วและองค์กมมะดำ (ผู้นำชาวข่า) จะเป็นผู้ปกครอง [9]

ส่วน กลุ่มบุญจัน ลูกเจ้าเมืองขุขันธ์คนก่อน และเป็นน้องชายพระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน เจ้าเมืองขุขันธ์ในขณะนั้น มีเป้าหมายอยู่ที่การยึดเมืองขุขันธ์ เพื่อตั้งตนจะได้เป็นเจ้าเมือง [10]

ส่วนผู้นำ กบฏกลุ่มอื่นๆ ซึ่งเป็นกลุ่มเล็กๆ เป้าหมายไม่ชัดเจน เช่น กบฏผู้มีบุญบ้านมาย เมืองสกลนคร กลุ่มจารย์เข้มตั้งตัวเป็นท้าววิษณุกรรมเทวบุตร ไม่มีหลักฐานว่าจะล้มล้างหรือต่อต้านอำนาจรัฐ แต่บทบาทที่เขาทำอยู่คือ รดน้ำมนต์และรักษาคนป่วย [11] กบฏผู้มีบุญเมืองกาฬสินธุ์ กลุ่มยายหย่า ยายหยอง อ้างตัวว่าเป็นพระศรีอริยเมตไตรยกลับชาติมาเกิด ก็ไม่มีหลักฐานว่าต่อต้านอำนาจรัฐ หรือเป้าหมายทางการเมืองแต่อย่างใด บทบาทที่ทำอยู่คือ ความสามารถในการทำพิธีเสี่ยงทายและให้โชคลาภแก่ผู้ที่มาขอเสี่ยงทายได้ [12]

ส่วนในระดับชาวบ้านเข้าไปร่วมกับฝ่ายกบฏด้วยเหตุผลต่างๆ กัน เช่น อยากเห็นสังคมใหม่ที่อุดมสมบูรณ์บ้าง ต้องการให้ผู้มีบุญเสกกรวดให้เป็นทองบ้าง บ้างก็เข้าไปร่วมเพราะศรัทธาในผู้มีบุญ [13] โดยไม่ทราบว่าเป้าหมายของผู้มีบุญคืออะไร ผู้มีบุญจะพาไปไหน คนที่เข้าไปร่วมกลุ่มผู้มีบุญมีน้อยกว่าคนที่แตกตื่นในคำพยากรณ์และข่าวลือ ซึ่งในเอกสารชั้นต้นระบุว่ามณฑลอีสานกำลังตื่นผู้มีบุญทุกแห่งทุกตำบล” “ราษฎรทุกเมืองในมณฑลอุดรพากันแตกตื่นฦาว่าผู้มีบุญ[14] ในอีสานใต้ข่าวลือเรื่องผู้มีบุญขยายทั่วจากมณฑลอีสานถึงมณฑลนครราชสีมา [15]

วิธีการของฝ่าย “กบฏผู้มีบุญ”

สำหรับวิธีการของผู้มีบุญส่วนใหญ่ที่ใช้เพื่อระดมผู้คนจนหลายแห่งได้คนมากพอที่จะต่อต้านอำนาจรัฐ แต่หลายแห่งก็ถูกปราบลงเสียก่อนที่จะต่อต้านอำนาจรัฐ สรุปได้ดังนี้

1. การปล่อยข่าวลือ คำพยากรณ์ ผู้ปล่อยข่าวคือหมอลำและผู้ที่ต่อมาประกาศตัวเป็นผู้มีบุญกับชาวบ้านที่ได้ฟังแล้วบอกต่อ หมอลำเป็นผู้ที่สร้างความบันเทิงให้กับชาวอีสานมานานมากเหมือนกับนักร้องในปัจจุบัน แต่หมอลำทำได้มากกว่านักร้อง

เพราะเนื้อหาหรือตัวสาระที่ถูกส่งผ่านไปถึงผู้ฟัง ไม่ใช่มีแต่การเกี้ยวพาราสีความรัก หรือนิทานสนุกๆ เท่านั้น แต่ยังมีเรื่องเกี่ยวกับความทุกข์ยากของชาวอีสาน โจมตีคนไทยว่าใจร้ายและสาปแช่งคนไทยให้ตาย (ฝูงไทยใจฮ้าย ตายสิ้นบ่หลอ) หรือไม่ก็ปลุกระดมไล่คนไทยไล่ไทยเอาดินคืนมาฆ่าไทยเสียให้หมด [16] ซึ่งเนื้อหาสาระเหล่านี้ เป็นสิ่งปลุกสำนึกให้ชาวอีสานบางส่วนต่อต้านอำนาจรัฐ และเกิดความหวังว่าจะมีสังคมใหม่ที่ดีกว่าสังคมที่เขาเป็นอยู่ในขณะนั้น

พระยาสุรเดชวิเศษฤทธิ์ทศทิศวิไชย (ภาพจากหอสมุดแห่งชาติ)

เนื่องจากการแตกตื่นต่อคำพยากรณ์ไปทั้งภาคอีสาน ทางการไทยจึงให้พระยาสุรเดชวิเศษฤทธิ์ทศทิศวิไชย ข้าหลวงพิเศษช่วยตรวจราชการระงับปราบปรามผู้ตั้งตัวเป็นผู้วิเศษหรือผู้มีบุญในมณฑลอีสาน รวบรวมข่าวลือ หรือคำพยากรณ์ต่างๆ โดยสอบถามจากผู้ใหญ่บ้านและราษฎรตามระยะทางจากนครราชสีมาถึงอุบลราชธานี สรุปข่าวเล่าลือได้ดังนี้

“1. กรวดแร่ที่ข้างวัดหนองเลา หนองซำ แขวงเมืองเสลภูมินั้น ถ้าใครไปนำเข้าพิธีก่อพระเจดีย์ทราย ระฤกถึงผู้มีบุญบูชาไว้แล้ว ถึงวันอาทิตย์ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 4 ปีฉลูตรีศก ศักราช 1263 ตรงกับวันที่ 23 มีนาคม ร.. 120 (ตรงกับปฏิทินแบบปัจจุบัน พ.. 2445) กรวดแร่นั้นจะกลายเป็นเงินทอง

2. ข่าวที่ลือว่าตัวไหม 1 หมู 1 กระบือเขาตู้ 1 สามอย่างนี้ ถ้าแม้ว่าผู้ใดมีไว้ กรวดแร่ของผู้นั้นจะไม่กลายเป็นเงินทองให้ตามประสงค์ กับทั้งสิ่งของเหล่านั้นจะกลับกลายเป็นโทษด้วย กล่าวคือ ตัวไหมจะกลายเป็นงู แลเงือกถอดเขี้ยวขบกัดเจ้าของ หมูและกระบือเขาตู้จะกลายเป็นยักษ์เที่ยวกินคน

3. รากไม้ที่อยู่ตามฝั่งน้ำซึ่งเป็นฝอยละเอียด 1 ฟักเขียว 1 ดอกจาน (ทองกวาว) 1 ของ 3 อย่างนี้จะกลายเป็นของมีประโยชน์ กล่าวคือ รากไม้ที่อยู่ตามฝั่งน้ำเป็นฝอยละเอียดนั้นจะกลายเป็นไหมให้เก็บมาไว้จะได้ไม่ต้องลำบากเลี้ยงไหมต่อไป ฟักเขียวจะกลายเป็นช้าง ราษฎรพากันตื่นเต้นซื้อมาเก็บรักษาไว้เป็นอันมาก ดอกจานจะกลายเป็นครั่งสำหรับย้อมไหม ราษฎรได้พากันเก็บรักษาไว้ทุกบ้าน

4. ข่าวลือว่าถึงวันอาทิตย์ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 4 ปีฉลูตรีศก ศักราช 1263 ตรงกับวันที่ 23 มีนาคม ร.. 120 จะเกิดลมพายุจัด จนตัวคนก็อาจปลิวไปกับลมได้ แลจะมืด 7 วัน 7 คืน ให้หาไม้ลิ้นฟ้า (คือไม้เพกา) มาไว้สำหรับจะได้จุดไฟอาไศรยแสงในเวลาที่จะมืด 7 วัน 7 คืน และให้ปลูกต้นสิงไค (คือกอตะไคร้) ไว้ที่บรรไดเรือน เมื่อเวลาลมพายุพัดมาจะได้ยึดเหนี่ยวกอตะไคร้ ถ้าไม่ฉะนั้นตัวคนจะปลิวไปกับลมนั้น

5. เงินของราษฎรที่มีอยู่จะกลายเป็นเหล็ก ให้พากันจัดแจงซื้อของเสียให้สิ้น เพื่อจะได้ไม่เป็นการเสียเปล่า

6. หญิงสาวที่ยังไม่มีสามีให้ไปเที่ยวหาสามีเสีย และให้คิดเอาสินสอดแก่ชายแต่เพียง 1 อัฐ 1 โสฬส (1 อัฐ = 1.56 สตางค์, 1 โสฬส = 0.78 สตางค์, 1 อัฐ 1 โสฬส = 2.34 สตางค์) เท่านั้น ถ้าหญิงใดจะหาชายที่ยังไม่มีภรรยามิได้ จะยอมเป็นภรรยาชายที่มีภรรยาก็ได้ แต่ต้องเสียอัฐให้แก่ภรรยาเดิม (คือภรรยาหลวง) 4 อัฐ เป็นค่าซื้อสามีแก่กัน ถ้ามิฉะนั้นยักษ์จะกินเสียทั้งสิ้น

ตามความที่เล่ามานี้ราษฎรตื่นเต้นมาก…” [17]

คำเล่าลือที่กล่าวมานี้ ไม่เพียงแต่เล่าลือกันต่อๆ ไปในวงกว้างเท่านั้น แต่มีคนจำนวนมากเชื่อคำเล่าลือด้วย ที่ศรีสะเกษราษฎรตื่นเต้นในข้อที่ว่า เงินทองจะกลายเป็นเหล็ก จึงเที่ยวซื้อสิ่งของเกือบทั้งเมืองโดยไม่ต่อราคาแต่อย่างใด เงินที่เหลือก็โยนทิ้งและให้พ่อค้าจีนไปทั้งหมด ทำให้พ่อค้าจีนร่ำรวยไปตามๆ กัน เพราะราษฎรพากันเชื่อว่าถ้าเอาเงินไว้เมื่อเงินกลายเป็นเหล็กแล้ว กรวดแร่ที่เก็บมาบูชาก็จะกลายเป็นทอง [18]

ความเชื่อเช่นนี้ปรากฏแทบทุกแห่ง ราษฎรพากันเก็บกรวดแร่บูชาแทบทุกบ้านทุกเมืองจากอุบลฯ ถึงสังฆะ พลอยเป็นบ้าไปตาม พูดแต่เรื่องผีบุญไม่ขาดวัน ไปถึงบ้านใดตำบลใด ผู้ใดมาถามไม่ว่าหญิงชาย เด็กผู้ใหญ่ จนถึงผู้ว่าราชการบ้านเมือง ก็มาถามแต่เรื่องนักบุญทรงทราบข่าวถึงมณฑลนครราชสีมา [19] นี่คือส่วนหนึ่งในรายงานของพระญาณรักขิต

บางแห่งนับตั้งแต่ราษฎรไปจนถึงข้าราชการตื่นข่าวเรื่องผีบุญมากจนไม่ทำงาน บางแห่งข้าวในนาก็ไม่เกี่ยว ให้โคกระบือกินเสียเปล่า ไร่สวนที่อ้อยพากันละทิ้งโดยมาก [20] เพราะคิดว่าจะรวยกันแล้วด้วยวิธีง่ายกว่าคือ เก็บกรวดมาบูชาให้กลายเป็นเงินทอง

หลายแห่งหญิงสาวที่เชื่อคำเล่าลือ ยอมเสียเงินให้หญิงที่มีสามีเพื่อซื้อสามี เพราะกลัวว่าหากไม่มีสามีจะถูกยักษ์กิน [21]

ภาพประกอบเนื้อหา – หญิงสาวชาวบ้านอีสานสมัยรัชกาลที่ 5 (ภาพจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

จะเห็นว่าข่าวลือดังกล่าวทำให้ชาวบ้านเกิดความหวาดกลัวเภทภัยที่จะเกิดขึ้น ขณะเดียวกันก็มีข่าวลือและกลุ่มผู้มีบุญเกิดขึ้นมากมายหลายกลุ่ม เพื่อจะช่วยทำให้ชาวบ้านเกิดความหวังขึ้นมาว่าท้าวธรรมิกราชหรือผู้มีบุญจะมาช่วยปลดเปลื้องเภทภัยและความทุกข์ยาก

2. มีการใช้พิธีกรรม เพื่อสร้างความศรัทธาในตัวผู้มีบุญ และช่วยปลดเปลื้องความทุกข์ของชาวบ้าน หรือไม่ก็สร้างความหวังให้กับชาวบ้าน เช่น การรดน้ำมนต์พร้อมเสกเป่าคาถา ทำโดยพระและผู้มีบุญ ที่เมืองยโสธร พระครูอิน วัดบ้านหนองอีตุ้ม พระครูวิมล วัดอัมพวัน และครูอนันตนิคามเขต วัดสิงห์ท่า เป็นผู้ทำพิธีตัดกรรมจองเวร ด้วยการรดน้ำมนต์เสกเป่าล้างบาปกรรมความชั่วต่างๆ และเอาเงินที่ชาวบ้านถวายมาบูชาพระธาตุคำบุ พิธีกรรมดังกล่าว ชาวบ้านเชื่อว่าเป็นการล้างบาป ทำให้ตัวบริสุทธิ์เพื่อรอคอยเจ้าผู้บุญ [22]

หลายแห่งมีพิธีกรรมเกี่ยวกับ “หินแฮ่” ชาวบ้านหลายพื้นที่เชื่อว่ามีหินแฮ่จะกลายเป็นเงินทอง เช่น ที่บ้านหัวขัว อำเภอโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม กุดแฮ่ อำเภอโนนสัง จังหวัดอุดรธานี พระธาตุคำบุ อำเภอเมือง จังหวัดยโสธร บ้านหนองซำ อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด

ชาวบ้านพากันไปเก็บหินแฮ่ในที่ดังกล่าวเอามาล้าง เอาของหอมลงใส่หม้อมีผ้าขาวปิดเอาไว้บนหิ้ง ก่อนบูชาทำพิธีบายศรีสู่ขวัญหินแฮ่เสียก่อน ทำพิธีสู่ขวัญเสร็จก็ต้องว่าคาถาสำหรับบูชาหินแฮ่อีก นอกจากนั้นยังมีข้อห้ามมิให้นำควายเขาตู้เข้ามาไว้ใต้ถุนเรือน ห้ามกล่าวคำหยาบทั้งเวลาที่ไปเก็บหินแฮ่และเวลาเอาหินแฮ่มาเก็บไว้ในเรือน มิฉะนั้นหินแฮ่ก็จะไม่กลายเป็นเงินทอง [23]

3. การขยายความเชื่อ และเพิ่มจำนวนคนที่เชื่อเรื่องผู้มีบุญ ด้วยการคัดลอกคำพยากรณ์ซึ่งปรากฏในรูปของหนังสือผู้มีบุญ หนังสือท้าวพระยาธรรมิกราช หนังสือพระยาอินทร์ และตำนานพื้นเมืองกรุง ซึ่งการคัดลอกคำพยากรณ์ดังกล่าวนี้ก็คือวิธีการของ “จดหมายลูกโซ่” ในปัจจุบันนั่นเอง จึงขอสรุปคำพยากรณ์ ซึ่งเรียกชื่อแตกต่างกันเป็น 4 แบบ ดังนี้

หนังสือผู้มีบุญ มีลักษณะเป็นคำพยากรณ์ว่าแต่ละเดือนจะเกิดอะไรขึ้น เช่น เดือน 9 เลือดจะท่วมเล็บช้าง ผัวเมียจะพลัดพรากจากกัน แต่ลูกที่ตายไปแล้วจะได้กลับคืน เดือน 5 ขึ้น 6 ค่ำ พระอินทร์จะมาตรวจว่าใครทำบาปแล้วลงโทษผู้นั้น

ในหนังสือยังสั่งสอนให้คนรีบทำบุญ ยึดมั่นในศีล 5 เคารพพ่อแม่ ครูบาอาจารย์ แล้วพระอินทร์จะบันดาลให้มีแก้วแหวนเงินทองให้ ให้คัดลอกหรือบอกต่อเรื่องที่ปรากฏในหนังสือนี้ ถ้าบ้านใดไม่มีหนังสือนี้ในบ้าน ผู้คนในบ้านนั้นจะต้องตายหมด ในท้ายหนังสือนั้นระบุคาถาป้องกันตัวและคาถาเรียกเงินเข้าไหด้วย [24]

หนังสือท้าวพระยาธรรมิกราช คล้ายปูมโหร กล่าวถึงผู้มีบุญ สิ่งประหลาดมหัศจรรย์ตามที่ต่างๆ เช่น ท้าวหมายุย อยู่บ้านหนองยาง พระยาลิ้นก่านอยู่บ้านหนองซำ พระเกตสัตฐาวิหาเจ้าฟ้าธรรมิกราชอยู่บ้านนาเลา ท้าวหูระมาน ท้าวบุญรอด อยู่บ้านเสียว กล้วยมีผลเป็นทองอยู่บ้านเสียว ควายมีเขาเป็นแก้วอยู่บ้านหัวดง กาเผือกกาลายอยู่บ้านหนองไฮ ตาลเจ็ดยอดอยู่บ้านเม็กน้อย จะเกิดไฟไหม้ครั้งใหญ่ มีการปล้นสะดม ทุกข์ยากกันไปทั่ว

ในตอนท้ายมีคำสอนให้ทำความดี อย่าเห็นแก่เงินทอง ให้เคารพครูบาอาจารย์พ่อแม่ คนแก่คนเฒ่า ให้ยึดมั่นในศีล 5 ศีล 8 ให้ฟังธรรมและเขียนหนังสือนี้ บอกต่อๆ กันไปจะได้อายุยืนและได้พบผู้มีบุญในวัน 15 ค่ำ ท้ายหนังสือระบุคาถาป้องกันตัวให้พ้นจากมารยักษ์ทั้งปวง [25]

หนังสือพระยาอินทร์ ในหนังสือมีเนื้อหาอบรมสั่งสอนให้คนทำบุญทำทาน รักษาศีล 5 ศีล 8 เคารพคนแก่พ่อแม่ครูบาอาจารย์แล้วจะร่ำรวย ให้คัดลอกหนังสือเล่มนี้ไว้ หากบ้านใดไม่มีหนังสือนี้คนในบ้านจะต้องตาย

เนื้อหายังกล่าวถึงยักษ์ชื่อต่างๆ ที่จะบันดาลให้เกิดความวิบัติต่างๆ เช่น เรยายักษ์จะลงมาทำให้คนตายด้วยความอดอยาก จักร์พายักษ์จะลงมาเป็นเหตุยุยงให้คนฆ่าฟันกันตาย ในตอนท้ายจะมีคำทำนายว่า ปีกุนจะเกิดแผ่นดินไหว ฟ้าร้องฟ้าผ่า จะมียักษ์มากิน ท้าวพระยาเสนาอำมาตย์และไพร่ที่ไม่ตั้งในศีลธรรม เป็นต้น ในหนังสือเล่มนี้มีคาถาให้ไว้ป้องกันตัวด้วย [26]

ตำนานพื้นเมืองกรุง มีเนื้อหาเล่าถึงความเป็นมาของกรุงศรีอยุธยาซึ่งต่างไปจากพงศาวดารกรุงศรีอยุธยามาก ตอนท้ายมีคำพยากรณ์ต่างๆ เช่น ปีมะโรงคนจะหลบหนีไปอยู่ตามป่า กินเนื้อสัตว์เป็นอาหาร ปีมะแมพ่อลูกจะพลัดพรากจากกัน ปีระกาและปีจอจะเกิดฟ้ามืดมองไม่เห็นดวงอาทิตย์ ถ้าหากต้องการพ้นภัยจะต้องรักษาศีล ทำบุญทำทาน พระยาธรรมิกราชจะให้คาถาไว้ป้องกันตัว ใครไม่เชื่อจะตายภายใน 7 วัน ใครเชื่อจะอายุยืน จะได้พบผู้มีบุญในเดือน 10 ขึ้น 5 ค่ำ ปีกุน [27]

หนังสือผู้มีบุญ และ ตำนานพื้นเมืองกรุง ในเหตุการณ์ กบฏผู้มีบุญ อีสาน
ต้นฉบับสำเนาพิมพ์ดีด “หนังสือผู้มีบุญ” (ซ้าย) และ “ตำนานพื้นเมืองกรุง” (ขวา) ที่มีการคัดลอกส่งมายังสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย (ภาพจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

จะเห็นว่า จดหมายลูกโซ่ ที่เรียกว่าหนังสือพยากรณ์ของผู้มีบุญที่กล่าวมานี้ มีลักษณะคล้ายกันคือ ทำนายว่าจะเกิดภัยพิบัติต่างๆ แต่ถ้าคนอยู่ในศีลในธรรม เชื่อในผู้มีบุญ ท่องคาถาของผู้มีบุญก็จะไม่เป็นอันตรายจากภัยพิบัติ

ผลของจดหมายลูกโซ่ดังกล่าว ทำให้ข่าวลือของผู้มีบุญกระจายไปอย่างรวดเร็ว เพราะเชื่อว่าถ้าไม่คัดลอกหนังสือดังกล่าว ไม่บอกต่อแล้วจะเกิดภัยพิบัติต่างๆ การคัดลอกและการบอกต่อเป็นการกระทำที่ไม่ต้องลงทุนลงแรงมาก ในขณะที่ถ้าไม่ทำก็เสี่ยงต่อชีวิตของตนและคนในครอบครัวจะเป็นอันตราย

การแพร่ของข่าวลือมีอย่างกว้างขวาง นับว่าเป็นความฉลาดมากของคนที่คิดวิธีการกระจายข้อมูลข่าวสารแบบนี้ซึ่งเป็นวิธีที่ผู้คิดไม่ต้องลงทุน แต่ได้ผลมากๆ ถือได้ว่าเป็นนวัตกรรม (Innovation) ที่ล้ำสมัยมาก ยังไม่พบหลักฐานว่า ใครเป็นคนแรกที่คิดจดหมายลูกโซ่ที่ว่านี้ เข้าใจว่าเป็นไอเดียของกลุ่มผู้นำของกบฏผู้มีบุญที่คิดวิธีนี้ขึ้นนับเป็นจดหมายลูกโซ่ฉบับแรกของเมืองไทย

การปราบปรามกบฏของรัฐบาล

เนื่องจากมีกบฏผู้มีบุญเกิดขึ้นหลายแห่งในภาคอีสาน ในที่นี้จะกล่าวเฉพาะกลุ่มที่สำคัญๆ เพียง 3 กลุ่มโดยสังเขป

1. กบฏกลุ่มบุญจันเมืองขุขันธ์ กลุ่มนี้เป็นกบฏผู้มีบุญอีสานที่ใหญ่ที่สุด มีสมาชิกที่มาเข้าร่วมถึง 6,000 คน หัวหน้ากบฏชื่อบุญจัน เป็นบุตรเจ้าเมืองขุขันธ์คนก่อน และเป็นน้องชายของผู้ว่าราชการเมืองขุขันธ์ในขณะนั้น เขาไม่ถูกกับพี่ชายในเรื่องตำแหน่งเจ้าเมืองมากกว่าสาเหตุอื่น ได้ตั้งตัวเป็นผู้มีบุญซ่องสุมกำลังอยู่ที่ภูฝ้าย ตำบลพราน อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษในปัจจุบัน

การก่อตัวของกบฏกลุ่มนี้ทำให้ กรมขุนสรรพสิทธิประสงค์ ข้าหลวงต่างพระองค์สำเร็จราชการมณฑลอีสานทรงวิตกกังวลมาก เพราะข่าวการก่อตัวของกบฏผู้มีบุญที่รายงานเข้ามามีหลายที่ แต่กลุ่มนี้ดูจะน่าเกรงขามกว่ากลุ่มอื่น เพราะมีกำลังมาก พระองค์ทรงรีบโทรเลขถวายรายงานให้รัชกาลที่ 5 ทรงทราบโดยในทางกรมหลวงดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย

โทรเลขฉบับนั้นทำให้รัชกาลที่ 5 ทรงเรียกประชุมเสนาบดีเป็นการด่วนและประชุมเพื่อพิจารณาเรื่องกบฏผู้มีบุญอีสานถึง 2 วัน คือ ในวันที่ 27 และ 29 กุมภาพันธ์ พ.. 2444 (นับอย่างปัจจุบัน 2445) ที่ประชุมมีมติให้กรมยุทธนาธิการสั่งทหารพร้อมอาวุธครบมือ 100 คนไปปราบกบฏผู้มีบุญเมืองขุขันธ์ และให้ทหารโคราชอีก 200 คน เตรียมพร้อม [28]

แต่ก่อนที่กองทหารจากโคราชจะไปถึง กองทหารลาดตระเวนส่วนหน้าที่กรมขุนสรรพสิทธิประสงค์ทรงส่งไปสมทบกับกำลังจากเมืองขุขันธ์รวมกันไม่เกิน 50 คน มีร้อยเอกสาย ธรรมานนท์ (ต่อมาได้เลื่อนยศเป็นพลโท พระยาฤทธิเกรียงไกรหาญ) เป็นผู้บังคับบัญชา ได้เกิดปะทะกับกองระวังหน้าของฝ่ายกบฏในวันที่ 11 และ 13 มีนาคม พ.. 2444 (2445)

ผลการปะทะกัน บุญจันและลูกน้องถูกยิงตายประมาณ 10 คน ที่เหลือพากันแตกหนีไป บุญจันและลูกน้องถูกตัดศีรษะเอามาเสียบประจานที่เมืองขุขันธ์ เพื่อให้คนทั้งหลายเห็นว่าบุญจันไม่ใช่ผู้วิเศษ และเป็นการปรามมิให้ราษฎรก่อการกบฏขึ้นมาอีก [29]

ปืนใหญ่สมัยรัชกาลที่ 5 (ภาพจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

2. กบฏกลุ่มองค์มั่น เป็น “กบฏผู้มีบุญ” อีสานที่โด่งดังที่สุด เพราะมีความเข้มแข็งมากที่สุด ถึงขนาดเคลื่อนทัพหมายจะเข้ายึดเมืองอุบลราชธานีซึ่งเป็นกองบัญชาการมณฑลอีสานจนเกิดปะทะกัน ฝ่ายกบฏล้มตายมากมาย หัวหน้ากบฏคือองค์มั่น บ้านกะจีน แขวงโขงเจียม ตอนนั้นขึ้นกับเมืองเขมราฐ เขาได้ตั้งตัวเป็นองค์ปราสาททองหรือพระยาธรรมิกราชมีคนนับถือมากทั้ง 2 ฝั่งโขง เขาได้ร่วมมือกับองค์แก้วผู้นำกบฏผู้มีบุญด้านฝั่งซ้ายที่ตั้งตัวต่อต้านอำนาจฝรั่งเศสร่วมกับองค์ยี่หรือพ่อกระดวด ผู้นำกบฏที่สำคัญมากในพื้นที่ลาวใต้ของฝรั่งเศส [30]

นอกจากองค์มั่นแล้ว ยังมีผู้นำรองๆ อีก 5 คน เป็นแกนนำ คือ องค์เขียว องค์ลิ้นก่าน องค์พระบาท องค์พระเมตไตร และองค์เหลือง ฝ่ายกบฏได้ปลุกระดมราษฎรทั้ง 2 ฝั่งโขง ในฝั่งขวา (คือฝั่งอีสาน) ได้กำลังจากอำเภอโขงเจียม อำเภอตระการพืชผล ในที่สุด ในวันที่ 28 มีนาคม พ.. 2444 (2445) ฝ่ายกบฏได้เข้ายึดเมืองเขมราฐ จับเจ้าเมืองไว้เป็นตัวประกัน และเป็นเครื่องมือแห่แหนให้คนเข้าเป็นพวก แต่ฆ่าท้าวกุลบุตร ท้าวโพธิสาร กรมการเมืองที่ไม่ยอมเข้ากับฝ่ายกบฏ

ตอนนี้กำลังของกลุ่มองค์มั่นเพิ่มจาก 200 เป็น 500 คน และได้เผาเมืองเขมราฐ ปล่อยนักโทษจากคุก แล้วเคลื่อนกำลังมุ่งตรงมายังเมืองอุบลราชธานี มาตั้งทัพระดมพลอีกครั้งที่บ้านสะพือใหญ่ อำเภอตระการพืชผล ถึงตอนนี้มีคนมาเข้ากับองค์มั่น 2,500 คน แต่อาวุธไม่ทันสมัย มีปืนคาบศิลา ปืนแก๊ป มีดพร้า ฝ่ายกบฏได้สะสมเสบียงอาหารด้วย ฝ่ายกบฏได้ฆ่านายอำเภอพนานิคมซึ่งไม่ยอมเข้ากับฝ่ายกบฏด้วย [31]

กรมขุนสรรพสิทธิประสงค์ ทรงได้รับข่าวการก่อกบฏหลายแห่ง จึงทรงแบ่งกำลังเป็น 5 สาย สายละ 6-15 คน ออกไปลาดตระเวน ปรากฏว่า 2 ใน 5 สาย ได้เกิดการปะทะกับกองลาดตระเวนของกลุ่มองค์มั่น โดยสายที่ 4 ซึ่งมีร้อยตรีหลี กับทหาร รวม 15 คน ถูกฝ่ายกบฏฆ่าตาย 11 คน ที่หนองขุหลุ ตำบลขุหลุ ทางใต้ของอำเภอตระการพืชผล สายที่ 5 มีทหาร 12 คน นำโดยร้อยเอก หม่อมราชวงศ์ร้าย ปะทะกับฝ่ายกบฏที่บ้านนาสมัย ตำบลนาสะไม ทางตะวันตกของอำเภอตระการพืชผล สู้กำลังฝ่ายกบฏไม่ได้แตกหนีมา ความพ่ายแพ้ 2 ครั้งติดๆ กัน ทำให้ฝ่ายกบฏมีกำลังใจดีขึ้นมาก มีคนเข้ามาร่วมเพิ่มอีก [32]

แผนที่ อีสาน ในเหตุการณ์ กบฏผู้มีบุญ

 ความพ่ายแพ้ของกองลาดตระเวน ทำให้กรมขุนสรรพสิทธิประสงค์ทรงตัดสินพระทัยส่งกองกำลังขนาดใหญ่พร้อมอาวุธหนักคือ ปืนใหญ่สมัยใหม่ 2 กระบอก มีร้อยเอก หลวงชิตสรการ (จิตร มัธยมจันทร์) ผู้บังคับกองทหารปืนใหญ่กับทหาร 100 คน และมีกำลังจากขุนนางเมืองอุบลอีกหลายร้อยคน

กำลังของฝ่ายรัฐบาลยกไปถึงชายเขตของบ้านสะพือใหญ่ ในเย็นวันที่ 3 เมษายน พ.. 2445 แล้วนำปืนใหญ่ซุ่มไว้ในป่า กับแบ่งกำลังซุ่มไว้ในป่า 2 ด้าน เปิดตรงกลางเอาไว้ การรบเกิดขึ้นในตอน 9 โมง ของวันที่ 4 เมษายน พ.. 2445 ฝ่ายกบฏได้เคลื่อนเข้าตีฝ่ายรัฐบาล ทหารฝ่ายรัฐบาลใช้ทหารปืนเล็ก 1 หมวดทำทีเป็นยิงต่อต้านเล็กน้อย แล้วแกล้งถอย แล้วยิงปืนใหญ่ข้ามกำลังของฝ่ายกบฏไป 1 นัด

ฝ่ายกบฏดีใจที่กระสุนปืนใหญ่มิได้ทำอันตรายฝ่ายตน จึงเคลื่อนทัพตรงมาข้างหน้า คราวนี้ปืนใหญ่ยิงนัดที่ 2-3 ตกตรงกลางกลุ่มกบฏล้มตายเป็นอันมาก ที่เหลือแตกหนีไป 2 ข้างก็ถูกทหารปืนเล็กระดมยิง ฝ่ายกบฏตายไป 200-300 คน บาดเจ็บ 500 กว่าคน

องค์มั่นปลอมตัวเป็นชาวบ้านหนีข้ามไปฝั่งซ้ายได้สำเร็จ แต่ลูกน้องประมาณ 400 คน ถูกจับมาขังไว้ที่เมืองอุบลราชธานี ฝ่ายกบฏถูกศาลตัดสินลงโทษแตกต่างกันไปตามบทบาท พวกที่ถูกเรียกว่า องค์ ถูกประหารชีวิต ที่เหลือก็ถูกจำคุกตั้งแต่ 1 ปีถึงตลอดชีวิต [33]

3. กบฏกลุ่มจารย์เข้ม บ้านมาย อำเภอบ้านม่วง จังหวัดสกลนคร ผู้นำกบฏกลุ่มน้อยๆ นี้ ชื่อจารย์เข้ม เป็นคนอุบล แต่มาบวชเรียนเป็นพระที่วัดเจริญบำรุง บ้านมาย และยังธุดงค์ไปเรียนวิชาจากพระที่หนองคายและเพชรบูรณ์อีกหลายสำนัก แล้วกลับมาจำพรรษาที่วัดเจริญบำรุง ชาวบ้านเคารพนับถือท่านมาก

เมื่อมีข่าวเรื่องผู้มีบุญ จารย์เข้มได้เดินทางไปที่บ้านหนองซำ เมืองเสลภูมิ ซึ่งชาวบ้านเชื่อกันว่ามีหินแฮ่ เป็นหินพิเศษ หากใครนำไปบูชา เมื่อผู้มีบุญมาโปรด จะเสกหินเหล่านี้ให้เป็นเงินเป็นทองได้ หลังจากกลับจากบ้านหนองซำ จารย์เข้มได้ลาสิกขาเป็นฆราวาส รับประทานอาหารมื้อเดียว รับประทานแต่ผัก นุ่งขาวห่มขาว ตั้งตัวเป็นท้าววิษณุกรรมเทวบุตร มีชาวบ้านนับถือมาก มาขอน้ำมนต์บ้าง ให้เป่าหัว ปัดเป่าความเจ็บไข้บ้าง กลางวันมีคนขอให้เป่า วันละประมาณ 100 คน กลางคืนประมาณ 700 คน มีผู้คนจากอุดรธานี หนองคาย และสกลนคร หลายอำเภอเดินทางมาหาจารย์เข้ม

ต่อมาในหมู่บ้านก็เกิดผู้ตั้งตัวเป็นผู้วิเศษอีกคน ชื่อ “ทิดรัน” ตั้งตัวเป็นฤาษีตาไฟ ทิดรันประกาศว่า เขาฝังไม้เท้ากายสิทธิ์ไว้ในที่ของตน ไม้เท้านี้กกชี้ตาย ปลายชี้เป็น จารย์เข้มไม่เชื่อ จึงเกิดการท้าทายกันขึ้นระหว่างผู้วิเศษทั้งสองว่า ถ้าทิดรันหาไม้เท้ากายสิทธิ์ไม่พบจะให้จารย์เข้มตัดคอ ถ้าพบจารย์เข้มจะยอมให้ทิดรันตัดคอเช่นเดียวกัน เมื่อถึงเวลานัดทิดรันไม่สามารถหาไม้เท้ากายสิทธิ์มาได้ จารย์เข้มจึงตัดคอทิดรันตรงที่นาริมวัด โดยบอกชาวบ้านว่าถ้าไม่ตัดคอ ทิดรันจะกลายเป็นยักษ์เที่ยวกินชาวบ้าน [34]

เมื่อทางการทราบเรื่องการฆ่าทิดรัน จึงส่งกำลังเจ้าหน้าที่มาจับจารย์เข้มกับสานุศิษย์ ในวันที่ 2 พฤษภาคม พ.. 2445 เจ้าหน้าที่ได้ยิงจารย์เข้ม สานุศิษย์และชาวบ้านราว 100 คน ขณะที่จารย์เข้มนั่งภาวนาแกว่งเทียนไปมา และบอกกับชาวบ้านว่า อาวุธของเจ้าหน้าที่จะไม่เป็นอันตราย แต่จะกลับไปถูกเจ้าหน้าที่เอง

แต่ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ได้ยิงจารย์เข้มกับชาวบ้านตายถึง 48 คน แล้วเอาศพโยนลงบ่อน้ำแล้วกลบบ่อนั้นเสีย ส่วนลูกศิษย์ที่จับไปขังไว้ที่มณฑลอุดร ก็ถูกปล่อยตัวในเวลาต่อมา เพราะไม่ได้ตั้งตัวเป็นผู้วิเศษ [35]

ผลของกบฏผู้มีบุญ

1. การตั้งกองตำรวจขึ้นในภาคอีสาน : เนื่องจากเดิมการจับโจรผู้ร้ายเป็นหน้าที่ของจ่าเมือง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ร่วมกันจับ บางทีผู้ใหญ่บ้าน กำนันก็เกณฑ์ชาวบ้านตามจับโจรขโมยวัวควายชาวบ้าน แต่เกิดกบฏผู้มีบุญ 2444-2445 รัฐบาลเห็นว่ากลไกเดิมไม่พอ จึงมีนโยบายจัดตั้งตำรวจอาชีพในส่วนภูมิภาคขึ้น โดยจ้างร้อยเอกปาทูว์ลิน ชาวเดนมาร์ก มาเป็นครูฝึกชายฉกรรจ์ในอีสาน ให้เป็นตำรวจและสร้างสถานีตำรวจขึ้นด้วย นับเป็นตำรวจภูธรชุดแรกของประเทศไทย

จำนวนของตำรวจที่ผลิตรุ่นแรกมี 800 คน ส่งไปประจำ 27 เมืองกับ 5 ตำบล การฝึกตำรวจรุ่นแรกเริ่มในเดือนพฤษภาคม พ.. 2445 ซึ่งเป็นเวลาหลังรบชนะกบฏที่บ้านสะพือใหญ่เพียงเดือนเดียว [36]

2. การสร้างระบบการศึกษาแบบกรุงเทพฯ : การที่ชาวบ้านหลงเชื่อตามคำเล่าลือตามหมอลำ และตามจดหมายลูกโซ่มากมาย เพราะชาวบ้านไม่มีการศึกษาจึงเชื่อเรื่องเหล่านี้ การเข้ามาจัดตั้งโรงเรียนแบบกรุงเทพฯ สอนภาษาไทยทั้งพระภิกษุ สามเณร และเด็กๆ ไม่ให้พระเณรเรียนอักขรธรรมและตัวไทยน้อยแบบอีสานที่เคยเรียนแต่ก่อน [37] 

การศึกษาแบบกรุงเทพฯ นี้ได้ขยายไปทั่วประเทศ ผลก็คือคนไทยมีตัวเขียนแบบเดียวกันทั้งประเทศ ซึ่งก็มีผลดีด้านการสื่อสาร แต่มีผลเสียคือว่าทำให้คนรุ่นหลังอ่านคัมภีร์ และเอกสารด้วยอักษรแบบเก่าไม่ออก ภูมิปัญญาดั้งเดิมก็ถูกละทิ้งไปอย่างน่าเสียดาย

3. ทำให้รัฐบาลสนใจภาคอีสานมากขึ้น มีการส่งเจ้านาย ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่มาตรวจราชการภาคอีสานบ่อยขึ้น มีการส่งข้าราชการมาช่วยพัฒนาภาคอีสานเป็นครั้งแรก คือ พนักงานเกษตรมาให้คำแนะนำด้านการเกษตรทั่วไป การระดมราษฎรเพื่อสร้างทำนบ มีเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์มาป้องกันและรักษาโรคระบาดในปศุสัตว์ [38] ความสนใจที่จะพัฒนาภาคอีสานของรัฐบาลก็เกิดขึ้นนับตั้งแต่เกิดกบฏผู้มีบุญครั้งนั้นเป็นต้นมา [39]

สรุป

กบฏผู้มีบุญอีสาน 2444-2445 เกิดขึ้นเพราะราษฎรไม่พอใจการเก็บภาษีส่วยจากชายฉกรรจ์คนละ 4 บาท มิหนำซ้ำมาเกิดภัยแล้งติดต่อกัน 2-3 ปี ส่วนขุนนางท้องถิ่นไม่พอใจการปฏิรูปการปกครองที่เอาอำนาจไปจากพวกเขาแล้วยังเอาผลประโยชน์ คือ ภาษีที่เขาเคยได้ส่วนแบ่งมากไปจากพวกเขาด้วย ประกอบกับการคุกคามจากฝรั่งเศส ทำให้ไทยต้องเสียดินแดนฝั่งซ้ายไปทั้งหมด และเสียอธิปไตยบางส่วนในเขต 25 กิโลเมตร แล้วยังมีข่าวลือว่า ฝรั่งเข้ามายึดกรุงเทพฯ พวกกบฏได้ใช้วิธีการขยายความเชื่อ เพื่อเพิ่มจำนวนผู้เข้าร่วมกระบวนการหลายอย่าง ทั้งใช้หมอลำ การบอกต่อ แต่ที่น่าทึ่งมาก การใช้ จดหมายลูกโซ่ คัดลอกคำพยากรณ์ต่อๆ กันไป ทำให้กบฏขยายตัวอย่างกว้างขวางถึง 13 จังหวัด แต่ด้วยอาวุธที่ทันสมัยกว่า ของรัฐบาลไทยจึงสามารถปราบปรามลงอย่างรวดเร็ว ภายใน 2 เดือน โดยฝ่ายรัฐบาลสูญเสียกำลังเพียงเล็กน้อย

หลังกบฏครั้งนั้น รัฐบาลไทยได้ให้ความสนใจในการพัฒนาภาคอีสาน โดยเริ่มจากการปฏิรูปการศึกษา พัฒนาการเกษตร และสร้างตำรวจภูธรขึ้นเป็นแห่งแรกของประเทศไทย

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เชิงอรรถ :

[1] นงลักษณ์ ลิ้มศิริ. ความสำคัญของกบฏหัวเมืองอีสาน .. 2325-2445. (วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2524), . 103-104.

[2] สุวิทย์ ธีรศาศวัต. ประวัติศาสตร์อีสาน 2322-2488. (ขอนแก่น : ศูนย์วิจัยพหุลักษ์สังคมลุ่มน้ำโขง มหาวิทยาลัยขอนแก่น, 2549), . 515.

[3] เตช บุนนาค. ขบถ .. 121. (กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2524), . 20.

[4] เพิ่งอ้าง.

[5] ไพฑูรย์ มีกุศล. การปฏิรูปการปกครองมณฑลอีสาน .. 2436-2453. (กรุงเทพฯ : กรมการฝึกหัดครู, 2517), . 83.

[6] สุวิทย์ ธีรศาศวัต และคณะ. รายงานการวิจัยเรื่องประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ ลุ่มแม่น้ำชี ตั้งแต่ .. 2475-2525. (กรุงเทพฯ : สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ, 2528), . 242-243.

[7] สุนทรี อาสะไวย์. จากอุดมการณ์พระศรีอาริย์ถึงขบถผู้มีบุญภาคอีสาน. (กรุงเทพฯ : สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2525), . 33.

[8] ไพฑูรย์ มีกุศล. อ้างแล้ว. . 93.

[9] สุวิทย์ ธีรศาศวัต. ประวัติศาสตร์ลาว 1779-1975. (กรุงเทพฯ : สร้างสรรค์, 2543), . 268-273.

[10] นงลักษณ์ ลิ้มศิริ. อ้างแล้ว. . 89-90.

[11] ฉัตรทิพย์ นาถสุภา และประนุช ทรัพยสาร. “อุดมการขบถผู้มีบุญอีสาน,” ใน ความเชื่อพระศรีอาริยและกบฏผู้มีบุญในสังคมไทย. พรเพ็ญ ฮั่นตระกูล และอัจฉราพร กมุทพิสมัย บรรณาธิการ. (กรุงเทพฯ : สร้างสรรค์, 2527), . 226-235.และไพฑูรย์ มีกุศล. “กบฏผู้มีบุญสกลนคร,” ใน สารานุกรมวัฒนธรรมไทยภาคอีสาน เล่ม 1. (กรุงเทพฯ : มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์, 2542), . 56-57.

[12] ไพฑูรย์ มีกุศล. “กบฏผู้มีบุญเมืองกาฬสินธุ์,” ใน สารานุกรมวัฒนธรรมไทยภาคอีสาน เล่ม 1. (กรุงเทพฯ : มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์, 2542), . 46.

[13] เตช บุนนาค. อ้างแล้ว. . 24-25.

[14] เพิ่งอ้าง.

[15] ไพฑูรย์ มีกุศล. อ้างแล้ว. (2517), . 91-92.

[16] นงลักษณ์ ลิ้มศิริ. อ้างแล้ว. . 123. (อ้างอิงจาก กจช. .5 .2 18/11 ใบบอกที่ 29/421 กรมขุนสรรพสิทธิประสงค์กราบทูลกรมหลวงดำรงราชานุภาพ 11 กรกฎาคม ร.. 122).

[17] ไพฑูรย์ มีกุศล. อ้างแล้ว. (2517), . 90-91. (อ้างอิงจาก กจช. .5 .2.8/11 ที่ 249/3955 30 สิงหาคม ร.. 121 รายงานตอนที่ 1 ของพระยาสุริยเดชวิเศษฤทธิ์ทศทิศวิไชย กราบทูลหลวงดำรงราชานุภาพ).

[18] เพิ่งอ้าง.

[19] เพิ่งอ้าง, . 91. (อ้างอิงจาก กจช. .5 . 57/15 20 กุมภาพันธ์ ร.. 120 พระญาณรักขิตถวายพระพรรายงานกรมขุนสรรพสิทธิประสงค์).

[20] เพิ่งอ้าง.

[21] เติม วิภาคย์พจนกิจ. “กบฏผู้มีบุญ 2,” ใน สารานุกรมวัฒนธรรมไทยภาคอีสาน เล่ม 1. (กรุงเทพฯ : มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์, 2542), . 43.

[22] เพิ่งอ้าง, . 42. และสุนทรีย์ อาสะไวย์. อ้างแล้ว. . 27-33.

[23] สุนทรีย์ อาสะไวย์. อ้างแล้ว. . 30-31.

[24] นงลักษณ์ ลิ้มศิริ. อ้างแล้ว. . 129.

[25] เพิ่งอ้าง, . 130.

[26] เพิ่งอ้าง, . 130-131.

[27] เพิ่งอ้าง, . 132-133.

[28] ไพฑูรย์ มีกุศล. อ้างแล้ว. . 94-95.

[29] ธวัช ปุณโณทก. “กบฏผู้มีบุญ เมืองขุขันธ์,” ใน สารานุกรมวัฒนธรรมไทยภาคอีสาน เล่ม 1. (กรุงเทพฯ : มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์, 2542), . 48.

[30] สุวิทย์ ธีรศาศวัต. อ้างแล้ว. (2543), . 264-273.

[31] ไพฑูรย์ มีกุศล. อ้างแล้ว. . 96-97. และเติม วิภาคย์พจนกิจ. “กบฏผู้มีบุญ 2,” ใน สารานุกรมวัฒนธรรมไทยภาคอีสาน เล่ม 1. (กรุงเทพฯ : มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์, 2542), . 38-39.

[32] ไพฑูรย์ มีกุศล. อ้างแล้ว. . 96.

[33] เติม วิภาคย์พจนกิจ. อ้างแล้ว. . 41-42.; ไพฑูรย์ มีกุศล. อ้างแล้ว. . 100.; สุนทรีย์ อาสะไวย์. อ้างแล้ว. . 27-28. และนงลักษณ์ ลิ้มศิริ. อ้างแล้ว. . 120-121.

[34] ไพฑูรย์ มีกุศล. “กบฏผู้มีบุญ เมืองสกลนคร,” ใน สารานุกรมวัฒนธรรมไทยภาคอีสาน เล่ม 1. (กรุงเทพฯ : มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์, 2542), . 5-56.

[35] เพิ่งอ้าง, . 56-57.

[36] เพิ่งอ้าง, . 108-109. และนงลักษณ์ ลิ้มศิริ. อ้างแล้ว. . 149-150.

[37] สุวิทย์ ธีรศาศวัต. อ้างแล้ว. (2549), . 541-542.

[38] เพิ่งอ้าง, . 468-469, 477-478.

[39] เตช บุนนาค. อ้างแล้ว. . 29-30.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 8 พฤษภาคม 2560