Loading...

“Sick Building Syndrome” ภัยคนเมือง 2020

 

แพทย์ธรรมศาสตร์ เผยวงการแพทย์ให้ความสำคัญกับโรคนี้ เพราะพบว่าประชากร 1 ใน 3 ของผู้อาศัยในเขตเมืองมีประวัติป่วยด้วยกลุ่มโรคนี้และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

วันอังคารที่ 7 มกราคม พ.ศ.2563

  

 

          ศ.พญ.อรพรรณ โพชนุกูล รองอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์เป็นเลิศด้านโรคภูมิแพ้ โรคหืดและระบบหายใจ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ เปิดเผยว่า “โรคตึกเป็นพิษ” หรือ “Sick building syndrome” ไม่ได้หมายถึงโรคชนิดเดียว หากแต่เป็นกลุ่มโรคที่แสดงอาการเมื่อต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงจากการใช้ชีวิตในอาคาร ไม่ว่าจะเป็นที่ทำงานหรือที่อยู่อาศัย โดยกลุ่มโรคนี้จะสัมพันธ์กับมลภาวะทางอากาศ ซึ่งคาดว่าในปี พ.ศ. 2563 หรือ ค.ศ. 2020 จะมีคนเมืองป่วยมากขึ้น

          ศ.พญ.อรพรรณ กล่าวว่า กลุ่มโรค Sick building syndrome เป็นกลุ่มโรคที่วงการแพทย์ในปัจจุบันให้ความสำคัญและเฝ้าระวังอย่างเข้มงวด เนื่องจากพบว่าประชากร 1 ใน 3 ของผู้ที่อาศัยอยู่ในเขตเมืองมีประวัติป่วยเป็นกลุ่มโรคนี้ และแนวโน้มผู้ป่วยจะเพิ่มมากขึ้นตามจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากเมืองมีประชากรหนาแน่น การจราจรติดขัด และอาคารบางแห่งยังเป็นโครงสร้างแบบเก่าที่มีความชื้น การระบายอากาศที่ดี และใช้สีทาผนังหรือสิ่งพิมพ์ที่เป็นสารระเหยง่าย (volatile organic compounds)

          มลพิษภายในอาคารเกิดขึ้นได้จากทั้งที่เล็ดลอดเข้ามา และเกิดจากภายในอาคารเอง ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ที่ระบบระบายอากาศไม่ถ่ายเท พรมทางเดินมีไรฝุ่น มีการตกแต่งใหม่ มีการใช้สีทาผนังซึ่งเต็มไปด้วยสารเคมีต่าง ๆ มีความชื้น รอยรั่วซึมซึ่งทำให้เกิดเป็นเชื้อราตามฝาผนัง ซึ่งทั้งหมดส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการ อ่อนเพลียง่าย ปวดหัว ไอ จาม คลื่นไส้ หายใจไม่สะดวก ฯลฯ

          “เราต้องสังเกตอาการตัวเองให้ดี เช่น ทำไมเดินเข้าอาคารนี้แล้วรู้สึกไม่ค่อยดี อยู่นาน ๆ แล้วรู้สึกเวียนหัว เพลีย แสบคอ คันตา คันจมูก คันผิวหนัง อาการผิดปกติเช่นนี้เกิดจากการที่เราไปใช้ชีวิตอยู่ในอาคารที่มีมลพิษทางอากาศ ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงทำให้เกิดโรค” ศ.พญ.อรพรรณ กล่าว

          ศ.พญ.อรพรรณ กล่าวอีกว่า การเอาตัวเองออกมาข้างนอกจะทำให้รู้สึกดีขึ้น แต่สำหรับผู้ที่มีประวัติป่วยเป็นโรคภูมิแพ้ โรคทางเดินหายใจ จะได้รับผลกระทบมากกว่าผู้อื่น อาจมีอาการรุนแรงมากยิ่งขึ้น เช่น ผู้ป่วยโรคหอบก็จะเสี่ยงอาการกำเริบมากขึ้น แต่ถึงคน ๆ นั้นจะไม่ได้เป็นโรค ครอบครัวไม่ได้มีประวัติเป็นโรคภูมิแพ้ แต่ถ้าใช้ชีวิตอยู่ในสถานที่ที่มีความเสี่ยงทุกวันก็จะกลายเป็นผู้ป่วยได้ในที่สุด

          นอกจากนี้ คนเมืองยังสุ่มเสี่ยงต่อการเกิดโรคประเภทออฟฟิศซินโดรม ซึ่งมาจากการทำงานที่ใช้กล้ามเนื้อมัดเดิมซ้ำ ๆ ขาดการออกกำลังกาย เพราะพื้นที่ในแนวดิ่งไม่เอื้ออำนวย เช่นเดียวกับการเกิดกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง NCDs (Non-Communicable diseases) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลจากวิธีการใช้ชีวิต ที่มีพฤติกรรมเสี่ยง เช่น การบริโภคอาหาร และการขาดการออกกำลังกาย

          สำหรับแนวทางการแก้ปัญหา คือการปรับปรุงสถานที่ในเป็นมิตรกับสุขภาวะให้มากขึ้น ตัวอย่างเช่น ผู้ที่อาศัยอยู่ในคอนโด แม้ระบบอาคารจะถูกออกแบบใหม่เพื่อให้อากาศถ่ายเท แต่ถ้าคอนโดอยู่ในสถานที่ตั้งที่มีดัชนีคุณภาพอากาศ (Air Quality Index : AQI) อยู่ในกลุ่มเสี่ยง ก็ต้องมีเครื่องฟอกอากาศช่วย และต้องถูกวางในห้องที่สมาชิกครอบครัวใช้เวลามากที่สุด โดยเปิดทิ้งไว้ล่วงหน้า 30 นาทีเป็นอย่างน้อย ขณะเดียวกันการจัดห้องนอนก็ต้องโล่งที่สุด ไม่ควรมีพรมซึ่งเสี่ยงต่อการเก็บไรฝุ่น ผ้าม่านต้องทำความสะอาดอยู่เสมอ หลีกเลี่ยงการมีตุ๊กตาและหมอนจำนวนมาก เพราะเสี่ยงต่อการเก็บกักเชื้อโรคและสารก่อภูมิแพ้ไรฝุ่น

          “ที่สำคัญคนเมืองยุคนี้ต้องปรับตัวพฤติกรรมตามหลัก 4Es ตั้งแต่ Eating (การกิน), Exercise (การออกกำลังกาย), Environment (ปรับสภาพแวดล้อมรอบตัว), Emotion (ปรับอารมณ์) ให้ถูกสุขลักษณะ และติดตามข่าวสารอยู่เสมอ หากไปยังสถานที่ใดที่ค่าดัชนีเตือนว่าต้องระวัง ไม่ควรลืมพกพาหน้ากากอนามัยให้เป็นนิสัยและยิ่งเมื่อต้องเข้าไปอยู่ในที่ที่มีฝุ่นมากต้องใส่หน้ากากแบบ N95  ซึ่งป้องกันฝุ่น PM 2.5 และเชื้อไวรัสได้  ส่วนในกรณีผู้มีประวัติป่วยเป็นภูมิแพ้ ต้องพกยาติดตัวไว้ตลอด เพราะเราไม่อาจรู้ได้เลยว่าจะต้องไปเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงเมื่อใด” ศ.พญ.อรพรรณ กล่าว

          ตลอดปี 2562 มลพิษทางอากาศจากภายนอกได้สร้างความหนักใจให้กับเรา แต่ในปี 2563 เป็นต้นไป จะมีผู้ป่วยจากโรคตึกเป็นพิษมากขึ้น ฉะนั้นทุกคนต้องระวังตัวมากขึ้นกว่าเดิม