เปิดกฎหมายเกาหลีใต้ ที่เกิดขึ้นได้เพราะคนในวงการบันเทิง

เปิดกฎหมายเกาหลีใต้ที่เกิดขึ้นเพราะคนในวงการบันเทิง ทั้ง ‘กฎหมายกูฮารา’ ซึ่งมอบสิทธิจัดการมรดกอย่างเป็นธรรมให้คนในครอบครัว และกฎหมายคุ้มครองสิทธิแรงงานในอุตสาหกรรมบันเทิง รวมถึง พ.ร.บ.เกณฑ์ทหารฉบับใหม่ที่ได้แรงบันดาลใจจากวง BTS

6 พ.ค. 2564 สำนักข่าว SBS News ของเกาหลีใต้ รายงานว่าคณะรัฐมนตรีของเกาหลีใต้ นำโดยประธานาธิบดีมุนแจอิน ได้ลงนามรับรองแผนปฏิบัติการเพื่อเสริมสร้างพื้นฐานครอบครัวที่ดี ฉบับที่ 4 เป็นที่เรียบร้อยแล้วในวันที่ 27 เม.ย. ที่ผ่านมา ส่งผลให้กฎหมายหลายฉบับที่เกี่ยวข้องกับครอบครัว และการเลี้ยงดูบุตร รวมถึง ‘กฎหมายกูฮารา’ หรือกฎหมายการจัดสรรมรดกของบุตรแก่บิดามารดาฉบับใหม่ ซึ่งตั้งชื่อตามนักร้องชาวเกาหลีใต้ผู้ล่วงลับ มีผลบังคับใช้อย่างเป็นอย่างเป็นทางการ

‘กฎหมายกูฮารา’ มีสาระสำคัญ คือ เพื่อแก้ไขการจัดสรรปันส่วนมรดกของบุตรที่เสียชีวิตโดยไม่ได้ทำพินัยกรรมให้มีความเป็นธรรมมากขึ้น โดยกฎหมายการจัดสรรมรดกของบุตรฉบับเดิมของเกาหลีใต้ระบุว่า หากบุคคลใดที่ยังไม่ได้จดทะเบียนสมรสตามกฎหมายเสียชีวิตลงโดยไม่ได้ทำพินัยกรรมเอาไว้ ผู้รับมรดกลำดับแรก คือ บิดาและมารดา ของบุคคลผู้นั้น โดยแบ่งสัดส่วนมรดกระหว่างกันที่ 50-50 ยกเว้นกรณีฆาตรกรรมในครอบครัวหรือการปลอมแปลงเอกสาร แต่กฎหมายกูฮารา ซึ่งเป็นกฎหมายฉบับใหม่ ระบุว่าบิดามารดาที่ละเลยการปฏิบัติหน้าที่ในการเลี้ยงดูบุตร หรือกระทำการละเมิดต่อบุตรของตนไม่ว่าทางใดทางหนึ่ง หรือกระทำความผิดอาชญากรรมร้ายแรงต่อบุตรของตน จะไม่มีสิทธิรับมรดกของบุตรที่เสียชีวิต โดยญาติหรือผู้ปกครองคนอื่นสามารถยื่นคำร้องต่อศาลเยาวชนและครอบครัวให้พิจารณาคุณสมบัติของบิดามารดาของผู้เสียชีวิตว่าผิดหลักเกณฑ์การรับมรดกของบุตรหรือไม่ หากศาลพิจารณาแล้วพบว่าบิดาหรือมารดามีคุณสมบัติบกพร่องในการเลี้ยงดูบุตร บิดามารดาเหล่านั้นจะไม่มีสิทธิในการรับมรดกของบุตรที่เสียชีวิตแล้วโดยเด็ดขาด

การผลักดันกฎหมายกูฮารา เริ่มขึ้นเมื่อช่วงต้นปีที่แล้ว หลังจาก กูอินโฮ พี่ชายของ กูฮารา ฟ้องร้องต่อศาลว่า มารดาผู้ให้กำเนิดตนและกูฮารา ไม่สมควรได้รับสิทธิในการรับมรดกของน้องสาวที่เสียชีวิตเมื่อปี 2562 เพราะมารดาของตนได้หย่าร้างกับบิดามาเป็นเวลานานแล้ว และไม่ได้มีส่วนในการเลี้ยงดูหรือส่งเสียค่าเล่าเรียน รวมถึงค่าใช้จ่ายอื่นๆ แก่ตนและน้องสาวแต่อย่างใด ต่อมา ศาลตัดสินว่าให้แบ่งมรดกของกูฮาราให้แก่ผู้เป็นบิดาและมารดาในสัดส่วน 60-40 แทนการแบ่งแบบเดิม คือ 50-50 ซึ่งหลังจากนั้น พี่ชายของกูฮารา ได้ยื่นคำร้องเสนอร่างกฎหมายการจัดสรรมรดกฉบับใหม่ต่อรัฐสภาเกาหลีใต้ โดยมีประชาชนชาวเกาหลีใต้ร่วมลงชื่อสนับสนุนร่างกฎหมายดังกล่าวมากกว่า 100,000 คนในระยะเวลาเพียง 17 วัน ส่งผลให้ร่างกฎหมายนี้ได้รับการพิจารณาครั้งแรกในประชุมสภาวิสามัญครั้งที่ 20 แต่ร่างกฎหมายไม่ผ่านการพิจารณาในรอบแรก อย่างไรก็ตาม รัฐสภาเกาหลีพยายามผลักดันร่างกฎหมายกูฮาราอีกครั้งในการประชุมสภาสมัยวิสามัญครั้งที่ 21 และที่ประชุมมีมติผ่านร่างกฎหมายดังกล่าวอย่างเป็นทางการในวันที่ 1 ธ.ค. 2563

อย่างไรก็ตาม กฎหมายกูฮารา ที่เพิ่งมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 27 เม.ย. ที่ผ่านมา ไม่สามารถบังคับใช้ย้อนหลังกับกรณีการจัดสรรมรดกของกูฮาราได้ แต่กฎหมายฉบับนี้ได้สร้างบรรทัดฐานใหม่ให้กับประเทศเกาหลีใต้

ภาพ กูฮารา จากมิวสิกวิดีโอเพลง Midnight Queen ซิงเกิ้ลภาษาญี่ปุ่นชุดสุดท้ายก่อนเสียชีวิต
 

กูฮารา เป็นนักร้องและนักแสดงชาวเกาหลีใต้ เกิดเมื่อวันที่ 13 ม.ค. 2534 ที่เมืองกวางจู เข้าวงการบันเทิงจากการเป็นสมาชิกนักร้องเกิร์ลกรุปวง KARA ใน พ.ศ.2551 ซึ่งมีผลงานเพลงอย่างต่อเนื่องในเกาหลีใต้และญี่ปุ่น ต่อมาในเดือน ก.ย. 2561 มีรายงานข่าวว่า ชเวจงบ็อม อดีตแฟนหนุ่มนอกวงการของ กูฮารา บุกเข้าทำร้ายร่างกายเธอในบ้านพักกลางดึก ส่งผลให้ กูฮารา ได้รับบาดเจ็บทั้งภายในและภายนอกร่างกาย ถึงขั้นเลือดออกในช่องคลอด อีกทั้งยังเหตุการณ์ในครั้งนั้นยังส่งผลกระทบต่อจิตใจของเธออย่างมาก ต่อมา ชเว อดีตแฟนหนุ่มของ กูฮารา ข่มขู่เธอด้วยการบอกว่าจะปล่อยคลิปวิดีโอขณะมีเพศสัมพันธ์ต่อสาธารณะ ทำให้ กูฮารา ตัดสินใจฟ้องร้องคดีต่อศาลในข้อหาทำร้ายร่างกายและข่มขู่แบล็กเมล์ ซึ่ง ชเว ได้สู้คดีจนถึงชั้นศาลฎีกา และศาลฎีกามีคำตัดสินเมื่อวันที่ 15 ต.ค. 2563 ให้ยืนตามคำตัดสินของศาลอุทธรณ์ คือ จำคุก 1 ปีโดยไม่รอลงอาญา

ก่อนหน้านี้ในเดือน พ.ค. 2562 มีรายงานว่า กูฮารา ได้พยายามฆ่าตัวตาย แต่คนใกล้ชิดสามารถช่วยชีวิตและนำส่งโรงพยาบาลได้ทันเวลา อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 24 พ.ย. 2562 ตำรวจเขตคังนัมในกรุงโซล รายงานว่าพบศพ กูฮารา เสียชีวิตในบ้านพัก เมื่อตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุและหลักฐานแล้ว ตำรวจจึงสรุปว่าเป็นการฆ่าตัวตาย ซึ่งทางครอบครัวของ กูฮารา ไม่ได้ติดใจในผลสรุปของคดี และรับศพของเธอไปทำพิธีทางศาสนาในวันที่ 26 พ.ย. 2562

JYJ ผู้ยกระดับสิทธิแรงงานในวงการบันเทิงเกาหลีใต้

นอกจาก กูฮารา แล้ว ยังมีคนในวงการบันเทิงของเกาหลีใต้อีกหลายคนที่เป็นส่วนหนึ่งของการผลักดันกฎหมายระดับประเทศฉบับใหม่ ซึ่งส่งผลต่อเชิงโครงสร้างและสิทธิเสรีภาพของคนในประเทศ ตัวอย่างเช่น ‘กฎหมาย JYJ’ หรือกฎหมายห้ามสถานีวิทยุและโทรทัศน์แบนศิลปินดาราตามใบสั่งของคนนอก หรือต้นสังกัดเดิมของศิลปินดาราคนนั้นๆ

กฎหมายฉบับนี้ตั้งตามชื่อวงบอยแบนด์ JYJ ซึ่งประกอบไปด้วยอดีตสมาชิกวงทงบังชินกิ (TVXQ!) จำนวน 3 คน ได้แก่ คิมแจจุง พัคยูชอน และคิมจุนซู โดยทั้ง 3 คนได้ฟ้องร้องยกเลิกสัญญากับต้นสังกัดเดิม คือ บริษัท SM Entertainment ค่ายเพลงขนาดใหญ่ของเกาหลีใต้ ในเดือน ก.ค. 2552 เนื่องจากสัญญาการทำงานที่มีระยะเวลาผูกมัดนาน 13 ปี ไม่นับรวมระยะเวลาเกณฑ์ทหารอีก 2 ปี ทำให้ระยะเวลาสัญญาการทำงานจริงคือ 15 ปี รวมถึงส่วนแบ่งรายได้ระหว่างศิลปินกับบริษัทไม่มีความเป็นธรรม ต่อมาในเดือน ต.ค. ปีเดียวกัน ศาลตัดสินให้สัญญาการทำงานระหว่างสมาชิกทั้ง 3 คนกับบริษัท SM Entertainment มีผลสิ้นสุดลง แต่ฝ่ายบริษัทได้ยื่นอุทธรณ์และเรียกร้องค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจากการยกเลิกสัญญาจ้างดังกล่าว โดยทั้ง 2 ฝ่ายใช้เวลาไกล่เกลี่ยกันในชั้นศาลนานกว่า 3 ปี จนสามารถตกลงกันได้ว่าจะยุติสัญญาที่มีผลผูกพันทั้งหมด และจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับการทำงานของกันและกันในอนาคต

อย่างไรก็ตาม แม้คดีจะเป็นที่สิ้นสุด แต่สมาชิกวง JYJ กลับไม่สามารถเผยแพร่ผลงานเพลงของตนผ่านโทรทัศน์และวิทยุในเกาหลีใต้ได้ เนื่องจากอิทธิพลอันกว้างขวางของต้นสังกัดเดิมในวงการบันเทิงเกาหลีใต้ ทำให้ ชเวมินฮี ส.ส. หญิงจากพรรรคประชาธิปไตยแห่งเกาหลีใต้ หรือพรรคมินจู ผลักดันร่างกฎหมาย JYJ จนรัฐสภามีมติเห็นชอบร่างกฎหมายดังกล่าวในวันที่ 15 ธ.ค. 2558

วง JYJ ขณะแสดงในงานพิธีเปิดกีฬาเอเชียนเกมส์ปี 2014 ซึ่งเกาหลีใต้เป็นเจ้าภาพ (ภาพจากวิกิพีเดีย)
 

กฎหมาย JYJ มีสาระสำคัญ คือ ห้ามบุคคลที่สามซึ่งไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการผลิตรายการวิทยุโทรทัศน์เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเชิญศิลปินดารามาร่วมรายการ ทั้งยังให้อำนาจคณะกรรมการการสื่อสารแห่งเกาหลีใต้ในการแทรกแซงหรือพิจารณาออกคำสั่ง หากได้รับคำร้องว่าสถานีโทรทัศน์และวิทยุแบนศิลปินดาราโดยไม่มีเหตุผลสมควร โดย ส.ส. ชเว กล่าวว่า กฎหมายดังกล่าวคือการคุ้มครองสิทธิของคนในอุตสาหกรรมบันเทิง ว่าจะสามารถทำงานได้โดยไม่ถูกครอบงำหรือลิดรอนสิทธิจากนายทุนหรือต้นสังกัดเดิม อย่างไรก็ตาม แม้กฎหมายนี้จะมีผลบังคับใช้แล้ว แต่สิทธิในการตัดสินใจเชิญบุคคลใดไปร่วมรายการยังเป็นของผู้ผลิต จึงค่อนข้างคลุมเครือในทางปฏิบัติ

นอกจากกฎหมาย JYJ ที่ผ่านสภาในปี 2558 แล้ว กรณีฟ้องร้องของนักร้องทั้ง 3 คนยังสร้างบรรทัดฐานใหม่ด้านสิทธิแรงงานในวงการบันเทิงเกาหลีใต้ โดยใน พ.ศ.2553 หลังศาลตัดสินระงับสัญญาระหว่าง JYJ และต้นสังกัดเดิม คณะกรรมการการค้าที่เป็นธรรมของเกาหลีใต้ (KFTC) ได้ออกข้อบังคับสัญญามาตรฐานระหว่างศิลปินดาราและต้นสังกัด โดยกำหนดระยะเวลาการทำงานตามสัญญาสูงสุดระหว่างศิลปินดาราและบริษัทอยู่ที่ไม่เกิน 7 ปี และกำหนดให้ข้อตกลงต่างๆ ในสัญญาต้องเป็นธรรมกับทั้ง 2 ฝ่าย ต่อมาใน พ.ศ.2560 KFTC ได้ออกข้อบังคับสัญญาที่เป็นธรรมระหว่างบริษัทและศิลปินฝึกหัด (trainee) โดยบริษัทต้องให้เหตุผลที่ชัดเจนในการยกเลิกสัญญาและห้ามยกเลิกสัญญาโดยไม่แจ้งล่วงหน้า นอกจากนี้ ยังห้ามบริษัทบังคับศิลปินฝึกหัดต่อสัญญา และห้ามปรับศิลปินฝึกหัด หากบริษัทเป็นผู้ขอยกเลิกสัญญา

BTS ผู้เปลี่ยนแปลงกฎหมายเกณฑ์ทหาร

เมื่อวันที่ 1 ธ.ค. 2563 รัฐสภาเกาหลีใต้มีมติเห็นชอบ พ.ร.บ.เกณฑ์ทหารฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ที่อนุญาตให้ศิลปินในวงการ K-pop สามารถผ่อนผันการเกณฑ์ทหารได้จนถึงอายุ 30 ปี โดยมีเงื่อนไขว่าศิลปินนั้นต้องได้รับการรับรองจากกระทรวงวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยวของเกาหลีใต้ ส่งผลให้ศิลปินชายในอุตสาหกรรม K-pop ที่เกิดใน พ.ศ.2535 เป็นต้นไป สามารถขอสิทธิผ่อนผันการเกณฑ์ทหารได้ตามกฎหมายดังกล่าวที่เรียกกันสั้นๆ ว่า ‘กฎหมาย BTS’ ซึ่งตั้งชื่อตามบอยแบนด์เกาหลีวง BTS ผู้สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้แก่วงการเพลงป๊อปเกาหลี ด้วยการพาเพลงภาษาเกาหลีติดอันดับในบิลบอร์ดชาร์ตของสหรัฐฯ ได้เป็นครั้งแรก ส่งผลให้วง BTS ได้รับความนิยมมากขึ้นอย่างรวดเร็วและมีชื่อเสียงโด่งดังระดับโลก

วง BTS ในงานประกาศรางวัล Melon Music Awards 2018 ที่เกาหลีใต้ (ภาพจากวิกิพีเดีย)
 

แต่เดิม กฎหมายของเกาหลีใต้กำหนดให้พลเมืองชาวเกาหลีใต้ที่มีเพศกำเนิดเป็นชาย อายุตั้งแต่ 18-28 ปี ต้องเข้ารับการเกณฑ์ทหารเป็นเวลา 18-20 เดือน เนื่องจากประเทศเกาหลีใต้ยังอยู่ในภาวะสงครามกับเกาหลีเหนือตามสนธิสัญญาหยุดยิงใน ค.ศ.1953

โนอุงแร ส.ส.จากพรรคประชาธิปไตยเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลในปัจจุบัน ผู้เริ่มต้นผลักดัน พ.ร.บ.เกณฑ์ทหารฉบับใหม่ของเกาหลีใต้ กล่าวว่า กองทัพเกาหลีใต้ให้สิทธิพิเศษยกเว้นการเกณฑ์ทหารให้แก่พลเมืองชายชาวเกาหลีใต้ที่ได้รับรางวัลระดับโลก เช่น นักกีฬาทีมชาติ หรือนักดนตรีคลาสสิก ในฐานะบุคคลที่สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศ ซึ่งข้อยกเว้นนี้ใช้มาตั้งแต่ พ.ศ.2516 แต่ทำไมศิลปินในวงการ K-pop ซึ่งเป็นผู้สร้างชื่อเสียงให้ประเทศเช่นกันในยุคปัจจุบัน กลับไม่ได้รับสิทธิพิเศษเหล่านั้น

“พวกเขาทำหน้าที่ของตัวเอง แต่ช่วยสร้างผลประโยชน์ให้ประเทศชาติอย่างมหาศาล วง BTS สร้างรายได้ให้เกาหลีใต้ถึง 1.7 ล้านล้านวอน จากการที่เพลงของพวกเขาติดอันดับในบิลบอร์ดชาร์ตของสหรัฐฯ สิ่งที่วง BTS สร้างจากการช่วยโปรโมตกระแส ‘ฮันรยู’ นั้นสร้างเกียรติภูมิให้ประเทศอย่างมาก และแทบประเมินเป็นเม็ดเงินไม่ได้เลยว่ามีมูลค่าสูงเท่าไร” โนอุงแร กล่าว

สำนักข่าว CNN รายงานเพิ่มเติมว่าการพิจารณาร่างแก้ไข้ร่าง พ.ร.บ.เกณฑ์ทหาร ถูกนำเข้าสู่สภาเร็วขึ้น หลังจากที่เพลง Dynamite ของวง BTS ซึ่งปล่อยออกมาในเดือน ส.ค. ปีที่แล้ว เปิดตัวที่อันดับ 1 ของบิลบอร์ดชาร์ตให้สหรัฐฯ ได้ และส่งผลให้วง BTS ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลแกรมมี่ครั้งที่ 63 ที่ประกาศผลไปเมื่อวันที่ 14 มี.ค. ที่ผ่านมา แม้จะพลาดรางวัลในครั้งนี้ แต่ถือว่าสามารถสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้วงการเพลงเกาหลีใต้ เพราะ BTS เป็นบอยแบนด์วงแรกที่ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลบนเวทีประกาศรางวัลระดับโลก

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง:

ที่มา:

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท