ผู้ลี้ภัย : วัฒน์ วรรลยางกูร "นกปีกหัก" กับ "รังใหม่" ที่ปลอดภัยในฝรั่งเศส

  • เรื่อง : อิสสริยา พรายทองแย้ม บก.วางแผนข่าว
  • วิดีโอ : เควิน คิม
คำบรรยายวิดีโอ,

วัฒน์ วรรลยางกูร กับชีวิตในลาวและการขอลี้ภัยในฝรั่งเศส

"มาอยู่ฝรั่งเศส ใช่แค่ เป็นเศษฝรั่ง ฝรั่งเศสมีหนมปัง ไม่ปึงปัง ดั่งลูกปืน ใต้ฟ้ากะลาแลนด์ คนหมื่น แสนล้านขมขื่น…"

กลอนบทล่าสุดของวัฒน์ วรรลยางกูร ยังไม่จบเพียงแค่นั้น แต่บีบีซีไทยไม่สามารถตีพิมพ์เนื้อหาส่วนที่เหลือได้ด้วยข้อจำกัดด้านกฎหมายไทย กลอนบทนี้สะท้อนเหตุผลชัดเจนว่า เหตุใดนักเขียนเจ้าของรางวัลศรีบูรพาปี 2550 ต้องกลายสภาพเป็นกวีไกลบ้าน นับตั้งแต่เกิดรัฐประหารปี 2557

วัฒน์ ให้สัมภาษณ์พิเศษบีบีซีไทย ณ สถานที่แห่งหนึ่งในกรุงปารีส ฝรั่งเศส ประเทศที่เขาเพิ่งย้ายมาอาศัยได้ราวหนึ่งเดือนครึ่ง แต่ออกปากว่าเป็น "แดนศิวิไลซ์" ที่น่าจะเป็นสถานที่แห่งใหม่และเขาเชื่อว่าจะเป็นแห่งสุดท้ายที่เขาจะใช้ชีวิตอยู่

วัฒน์ วรรลยางกูร

ที่มาของภาพ, วัฒน์ วรรลยางกูร

ช่วงสี่ปีที่ผ่านมา เขาอาศัยอยู่ในลาวและเคยคิดจะปักหลักเขียนหนังสือที่นั่นในจังหวะที่สภาพการเมือง การปกครองไทยยังเป็นเช่นปัจจุบัน แต่สิ่งที่เกิดกับผู้ที่หลบหนีหมายจับของทางการไทย ในข้อกล่าวหาเดียวกันกับเขาที่หายตัวไปและเสียชีวิต ทำให้วัฒน์ต้องเดินทางไกล

"เป็นเรื่องที่ไม่เคยคิดฝันเลย ความจำเป็นบังคับให้มา ผมไม่เคยคิดฝันว่าจะต้องหลีกลี้ไปยุโรปอเมริกา แต่ในที่สุดก็จำเป็นต้องมา เพราะสถานการณ์บังคับ…เป็นนกปีกหักแต่ยังบินได้ไกล เพราะความเมตตาของประเทศศิวิไลซ์"

นักเขียนเจ้าของรางวัลศรีบูรพาอ้างว่าทางการไทยกดดันทางการลาวให้ส่งตัวผู้ลี้ภัยในลักษณะเดียวกับเขากลับไทย เมื่อทางการลาวไม่ยืนยันว่าบุคคลเหล่านั้นอยู่ในประเทศ จึงทำให้เกิดการไล่ล่า

"มีการทำหนังสือขอตัวมาครั้งแล้วครั้งเล่า มีทั้งรายชื่อและรูปถ่าย และยิ่งกว่านั้นมีรูปที่พักปัจจุบันของเราตอนอยู่ที่นั่นทั้งทางภาคพื้นดินและทางอากาศ เรียกว่าเขารู้หมดเราอยู่ตรงไหน"

นายสุรชัย แซ่ด่าน

ที่มาของภาพ, Reuters

คำบรรยายภาพ,

นายสุรชัย แซ่ด่าน หนึ่งในผู้ลี้ภัยในลาว มีบ้านพักตั้งอยู่บนถนนสายเดียวกันกับวัฒน์

การเสียชีวิตของนายภูชนะ (ชัชชาญ บุปผาวัลย์) และนักกิจกรรมที่ใช้ชื่อว่ากาสะลอง กับการหายตัวไปของนายสุรชัย แซ่ด่าน หรือสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ ผู้ลี้ภัยคนสำคัญในลาว ซึ่งมีที่พักอยู่ไม่ห่างไกลกัน ทำให้วัฒน์ "จิตตก" และเชื่อว่าเขาอยู่ในคิวถัดไป

"ทั้งสามคนนี้สนิทกับผมหมด โดยเฉพาะภูชนะที่ถูกฆ่าผ่าท้องเอาเสาปูนทางหลวงยัดใส่ท้อง เขาอยู่กับผมที่ทางเหนือของลาวสามปีครับ อยู่บ้านหลังเดียวกัน อยู่ห้องติดกัน"

ผู้ขอลี้ภัยการถูกประหัตประหาร

วัฒน์ ในวัย 64 ปี เดินทางถึงกรุงปารีสในเดือนพฤษภาคม 2562 หลังยื่นเรื่องขอลี้ภัย ผ่านสถานทูตฝรั่งเศสในลาว ด้วยเหตุผลเรื่องความไม่ปลอดภัยในชีวิต และเกรงจะถูกดำเนินคดี อย่างไม่เป็นธรรมหากถูกนำตัวไปลงโทษในไทยภายใต้การปกครองของรัฐบาลทหาร

วัฒน์ วรรลยางกูร

ที่มาของภาพ, วัฒน์ วรรลยางกูร

คำบรรยายภาพ,

จรัล ดิษฐาอภิชัย กับวัฒน์ ในฝรั่งเศส

หลังเกิดเหตุการณ์ยึดอำนาจได้เพียงสองวัน คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) ออกคำสั่งให้วัฒน์ไปรายงานตัว จากนั้นในเดือนมิถุนายนมีคำสั่งอีกหนึ่งฉบับเรียกซ้ำ ไม่กี่วันถัดมา จากคำสั่งเรียกรายงานตัวได้กลายเป็นหมายจับ

ในเดือนสิงหาคมปีเดียวกัน ศาลอนุมัติให้ สน.ชนะสงคราม ออกหมายจับวัฒน์ฐานกระทำผิดมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา เพราะเกี่ยวข้องกับการจัดแสดงละครเรื่องเจ้าสาวหมาป่า ที่ทางการเห็นว่ามีเนื้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ในขณะนั้นวัฒน์อาศัยอยู่ในประเทศเพื่อนบ้านแล้ว

นักแสดงนำในละครเรื่องนี้สองคนคือนายปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม และ น.ส.ภรณ์ทิพย์ มั่นคง ถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112 ถูกลงโทษจำคุก 5 ปี แต่ลดเหลือ 2 ปี 6 เดือน โดยไม่รอลงอาญา หลังให้การรับสารภาพ

เส้นทางหลบหนีสบาย ๆ ไทย-เขมร-ลาว

อดีตนักศึกษาในยุคเดือนตุลา 2519 ที่เคยหนีเข้าป่า เพื่อร่วมต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์ไทย เล่าว่าไม่ใช่เรื่องยากที่จะอ่านเกมการเมืองในช่วงเดือนพฤษภาคม 2557 จึงเดินทางออกไปยังกัมพูชาไม่รอให้ถูกจับกุมเสียก่อน

ด่านชายแดนไทย-กัมพูชา

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ,

ด่านชายแดนไทย-กัมพูชา

"คือออกไปทางเขมรซึ่งมันจะมีบ่อนคาสิโน และเราออกไปได้โดยไม่ต้องใช้พาสปอร์ต เขาเรียกว่าช่องแมวลอด เดินไปเฉย ๆ ได้สบาย ๆ ลงจากที่จอดรถ เดินไปสักสิบนาที ข้ามคูน้ำหน่อยก็ถึงเขมรแล้ว (ตรงนั้น) เป็นช่องประตูสังกะสีเล็ก ๆ ไม่ถึงเมตร"

เจ็ดเดือนหลังจากนั้น เขานั่งเรือล่องแม่น้ำโขงจากจังหวัดสตรึงเตรง เพียงสิบนาทีเศษ ก็ข้ามไปถึงแขวงจำปาสักของลาว เขาต้องย้ายที่อยู่หลายครั้งขณะอยู่ในกรุงเวียงจันทน์ ก่อนจะขยับขึ้นไปปักหลักทางเหนือของประเทศ สถานที่เดียวกับผู้ลี้ภัยที่ทางการไทยต้องการตัวอีกหลายคน

พรรคคอมมิวนิสต์ลาวดูแลดี

วัฒน์ พูดอย่างไม่ปิดบังว่าเขาและผู้ลี้ภัยอีกหลายคนอยู่ในลาวได้ก็ด้วยความช่วยเหลือของ "ผู้ใหญ่" ในพรรคคอมมิวนิสต์ลาวที่ให้การดูแลอย่างดี จัดหาสถานที่อยู่ที่ไม่ต้องเสียค่าเช่า ค่าน้ำ และค่าไฟ แต่ทางการลาวไม่สามารถให้สวัสดิการ หรือออกหลักฐานยอมรับสถานะการมีตัวตนของพวกเขาได้ และนั่นคือความกังวลเพราะ "ถ้าเราถูกฆ่า เราจะหายไปจากโลกนี้โดยไม่มีหลักฐานอะไรเลย"

เรือนพัก

ที่มาของภาพ, วัฒน์ วรรลยางกูร

คำบรรยายภาพ,

เรือนพักของวัฒน์ ในลาว เมื่อปี 2561

แต่เจ้าหน้าที่ทางการลาวก็เป็นผู้ให้เบาะแสะและแนะนำวัฒน์ให้เดินทางออกจากลาว

บีบีซีไทยพยายามติดต่อกับสถานทูตลาวในประเทศไทย กระทรวงการต่างประเทศของ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เพื่อสอบถามเรื่องนี้ แต่ยังไม่สามารถติดต่อได้

นอกจากนี้บีบีซีไทยได้สอบถาม พล.ท.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ต่อประเด็นที่วัฒน์ระบุว่าได้รับความช่วยเหลือจาก "ผู้ใหญ่" ในพรรคคอมมิวนิสต์ลาว รวมทั้งที่ทางการไทยกดดันทางการลาวให้ส่งตัวผู้ลี้ภัยทางการเมืองกลับมาดำเนินคดี พล.ท.วีรชนตอบว่าเขาไม่มีข้อมูลใด ๆ ในเรื่องนี้ ดังนั้นจึงไม่สามารถให้ความเห็นต่อคำกล่าวอ้างดังกล่าวได้

วัฒน์ วรรลยางกูร คือใคร

วัฒน์ วรรลยางกูร

วัฒน์เริ่มต้นอาชีพนักเขียนตั้งแต่เรียนชั้นมัธยมศึกษาเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน มีผลงานหลากหลายทั้งบทกวี เรื่องสั้น นิยาย สารคดี และบทเพลง ผลงานของเขาได้รับการเผยแพร่ตามนิตยสาร อาทิ ฟ้าเมืองไทย ชาวกรุง ลลนา ฯลฯ

หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 วัฒน์ มีส่วนในกิจกรรมทางการเมืองมากขึ้น โดยเข้าร่วมกับแผนกวรรณศิลป์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง และร่วมทำ นสพ.อธิปัตย์ของศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย เมื่อ พ.ศ.2517 โดยมีคอลัมน์ประจำชื่อ "ช่อมะกอก" ที่ต่อมากลายเป็นเรื่องชุดและนวนิยายเรื่อง "ตำบลช่อมะกอก

วัฒน์มีส่วนร่วมชุมนุมทางการเมืองในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 และได้หนีภัยการเมืองเข้าไปอยู่ในป่าเป็นเวลาหลายปี ระหว่างนั้นเขาได้เขียนเรื่องสั้น บทกวี และนวนิยายหลายเรื่อง

ผลงานของวัฒน์ได้รับการตีพิมพ์อย่างต่อเนื่อง แต่ที่ทำให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในหมู่คนหนุ่มสาว ในยุคแห่งการเรียกร้องเสรีภาพและประชาธิปไตยคือ "นกพิราบสีขาว" และ "กลั่นจากสายเลือด ผลงานส่วนใหญ่ของวัฒน์มีเนื้อหาสะท้อนภาพความเหลื่อมล้ำทางสังคม และการแบ่งแยกชนชั้น ในปี 2550 เขาได้รับรางวัลศรีบูรพา ซึ่งมอบแก่นักคิดนักเขียนผู้มีผลงานอันทรงคุณค่า

วัฒน์ ซึ่งใช้นามปากกาว่า "วัฒน์ ท่าเสา" เข้าร่วมการประท้วงและขึ้นเวทีของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หลังเหตุการณ์การยึดอำนาจ เมื่อปี 2549 ทำให้ได้ชื่อว่าเป็น "นักเขียนเสื้อแดง" ที่สนับสนุนนายทักษิณ ชินวัตร

ภาพเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ,

ภาพเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516

ระหว่างลี้ภัยอยู่ในลาว วัฒน์ เคยจัดรายการวิทยุกับลุงสนามหลวง และผู้ลี้ภัยคนอื่น ๆ ที่ร่วมกันนำเสนอเนื้อหา "ล้มเจ้า"

การเมืองไทยพล็อตต่อไป

จากอดีตนักศึกษาที่เคยฝักใฝ่ลัทธิคอมมิวนิสต์ วันนี้ประกาศตัวเป็น "เสรีชนเต็มขั้น" วัฒน์บอกว่าได้เห็นการเมืองไทยวนเวียนซ้ำซากอยู่กับการยึดอำนาจ ก่อรัฐประหาร การกดขี่ มาตั้งแต่วัยเด็ก และสิ่งนี้จะยังเกิดต่อไป

"พล็อตต่อไป ไม่กลัวใช่ไหม มันก็จะหนักขึ้นเรื่อย ๆ …แต่เดิมนี่แค่ใครเคลื่อนไหวเหรอ ให้ทหารไปเยี่ยมที่บ้าน ไปพูดจาสุภาพ…ขนาดบ้านผมไม่อยู่มาหลายปี ตำรวจจาก สน.ชนะสงครามยังตามไปเลย"

วัฒน์กล่าวหลังวิเคราะห์ถึงสิ่งที่เกิดกับนายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือ จ่านิว ที่ถูกทำร้ายได้รับบาดเจ็บสาหัส ว่า เป็นสถานการณ์ใกล้เคียงกับช่วงก่อนเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ที่ "เขาอาจจะต้องการล้างกลุ่มประชาชนที่มีแนวคิดประชาธิปไตย"

ชีวิตที่ไร้ความสุข

วัฒน์ วรรลยางกูร

ที่มาของภาพ, วัฒน์ วรรลยางกูร

คำบรรยายภาพ,

บ้านริม "บึงทอง" ในลาว

การต้องจากบ้านเมืองไปอาศัยอยู่อย่างหลบ ๆ ซ่อน ๆ ในลาวนานหลายปี เป็นชีวิตที่วัฒน์ยอมรับว่าไม่ค่อยมีความสุข และเคยตกอยู่ในภาวะซึมเศร้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังเกิดเหตุเพื่อนผู้ลี้ภัยสูญหายและเสียชีวิต แต่ถึงอย่างนั้นเขาก็ไม่เคยคิดจะเดินทางกลับไทย "ไม่คิดเลยครับ ไม่ชะเง้อรอในสภาพที่สังคมไทยเป็นแบบนี้"

ส่วนชีวิตในสถานที่ใหม่ที่เขาต้องปรับตัวทั้งในเรื่องภาษา อากาศ อาหาร อย่างในฝรั่งเศสซึ่งกระแสอนุรักษ์นิยมกำลังมีอิทธิพลนั้น วัฒน์กลับพึงใจมากกว่า เพราะไม่ต้องหลบหนี และอยู่อย่างมีตัวตน ปัจจุบันเขามีสถานะผู้ขอลี้ภัย

วัฒน์ไม่ปฏิเสธว่าเขาอยู่ในสภาพ "ไส้แห้ง" แต่เชื่อว่านับจากนี้จะมีสมาธิเขียนหนังสือเล่มใหม่ที่อาจเป็นเรื่องราวของการต้องระหกระเหินลี้ภัย หรือเรื่องอื่นที่ยังไม่ต้องการเปิดเผย แต่ยังคงยึดแนวเสรีชนที่ทั้งเขาและผู้อ่านคุ้นเคย