ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ : รับข้อเสนอผู้บริโภคค่ารถไฟฟ้าตลอดสายไม่เกิน 44 บาท ยืนยันแนวทางเก็บส่วนต่อขยายสายสีเขียว

getty

ที่มาของภาพ, Getty Images

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร รับข้อเสนอสภาองค์กรของผู้บริโภคที่ให้เก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าบีทีเอสสายสีเขียวตลอดสายสูงสุดไม่เกิน 44 บาท หลังจาก กทม. มีแนวคิดเก็บ 59 บาทรวมส่วนต่อขยาย ขณะที่มีความเห็นที่ตรงกันถึงการเก็บค่าโดยสารส่วนต่อขยาย 2 เส้นทางที่ กทม. รับภาระจ่ายชดเชยให้กับเอกชนผู้เดินรถอยู่

นายชัชชาติ กล่าวว่า การเก็บค่าโดยสารที่ราคาสูงสุด 59 บาท เป็นอัตราเดิมที่สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ (ทีดีอาร์ไอ) ราคานี้คือส่วนของการเดินรถเส้นทางเดิม หรือส่วนไข่แดง เก็บสูงสุดไม่เกิน 44 บาท บวกกับ 15 บาท (ส่วนต่อขยาย) เป็น 59 บาท ซึ่งหลังจากรับข้อเสนอไปแล้ว กทม. จะไปคำนวณค่าใช้จ่ายชดเชยอีกครั้งว่า หากเก็บค่าเดินทาง 44 บาท ตลอดสาย กทม. ต้องจ่ายชดเชยค่าบริการเดินรถเท่าไหร่

สำหรับส่วนต่อขยายส่วนที่สองมี 2 เส้นทาง ได้แก่ ช่วงห้าแยกลาดพร้าว-คูคต และช่วงแบริ่ง-เคหะสมุทรปราการ ยังไม่มีการเก็บค่าโดยสาร ซึ่งมีผู้ใช้อยู่ 27% โดยเป็นภาระหนี้ของ กทม. ที่เป็นผู้จ่ายค่าบริการเดินรถให้ทางบริษัทบีทีเอสอยู่ในปัจจุบัน

"เราไม่สามารถเอาเงินของผู้บริโภคที่ไม่ได้ใช้บีทีเอสมาซับซิไดซ์หรือมาจ่ายให้กับคนใช้บีทีเอสได้ เพราะฉะนั้นต้องเรียนข้อมูลให้ทางสภาฯ ทราบด้วยว่า สุดท้ายเราถ้าเราใช้ราคานี้ กทม. ต้องเอาเงินไปช่วยเท่าไหร่ และเงินส่วนนี้ ผู้บริโภคกลุ่มอื่นจะมีปัญหาอะไรไหม ผมว่าเราคุยกันด้วยหลักการน่าจะอธิบายกันได้" นายชัชชาติ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ในการหารือกันระหว่างนายชัชชาติ กับสภาองค์กรของผู้บริโภค วันนี้ (29 มิ.ย.) ประเด็นที่เห็นตรงกันคือ การเก็บค่าโดยสารช่วงส่วนต่อขยาย

"เราเห็นด้วยที่จะเก็บส่วนคูคต เข้ามาแยกลาดพร้าว 15 บาท เห็นตรงกัน" น.ส. สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค ระบุ

ตลอดสาย 44 หรือ 59 บาท

น.ส. สารี กล่าวว่าสภาองค์กรของผู้บริโภค ขอให้ผู้ว่าฯ กทม. ยกเลิกราคาสูงสุด 59 บาท เพราะจะทำให้เพดานราคาสูงสุดของรถไฟฟ้าสูงเกินกว่าที่ทุกคนจะสามารถขึ้นได้ทุกวัน ถึงแม้ว่าเราจะใช้บริการในปัจจุบันจริง ๆ 59 บาท แต่การประกาศให้เป็นราคาตลอดสาย จะส่งผลต่อราคาสูงสุดของรถไฟฟ้า ซึ่งอาจจะส่งผลต่อการเข้าถึงของผู้บริโภค

ประเด็นนี้ นายชัชชาติชี้แจงว่า การใช้อัตรา 59 บาท หรือ 44 บาท เป็นช่วงระยะสั้นก่อนที่จะหมดสัญญาสัมปทาน มีส่วนต่อขยายสองส่วน ที่ยังไม่ได้เก็บเงินอยู่ ส่วนไข่แดงราคาสูงสุด อยู่ที่ 44 บาทอยู่แล้ว ที่เอกชนได้สัญญาสัมปทานอยู่ ปัจจุบันการเดินรถส่วนต่อขยาย 1 และ 2 วิ่งข้างนอกเอกชนจะไม่ได้เงินเลย เพราะสูงสุดอยู่ที่ 44 บาท ดังนั้น กทม. จึงจ่ายชดเชยในส่วนนี้อยู่

"ถ้ากรอบอยู่ที่ 44 บาท เราต้องชดเชยเงินเท่าไหร่ และถ้าอยู่ 59 บาท กทม. ต้องชดเชยเท่าไหร่ เป็นตัวเลขที่จะเอามาให้ทางสภาองค์กรของผู้บริโภคดูอีกที"

gett

ที่มาของภาพ, Getty Images

น.ส. สารี กล่าวด้วยว่า สภาองค์กรของผู้บริโภค ขอให้ กทม. ใช้ราคา 44 บาท ตลอดสายเพื่อคุ้มครองบริษัท บีทีเอส ด้วย ที่มีราคาสัมปทาน 44 บาท ส่วนเส้นทางระหว่างหมอชิต-คูคต จ่าย 15 บาทเข้ามา แต่ส่วนขยายทั้งสองฝั่งให้ราคาตลอดสายรวมแล้วไม่เกิน 44 บาท เพื่อเป็นต้นแบบให้กับสายอื่น ๆ ที่สภาฯ มีหน้าที่ไปผลักดันด้วย

ด้านนายชัชชาติกล่าวว่า กทม. มีแนวคิดค่าใช้จ่ายสูงสุด 44 บาท เช่นเดียวกัน แต่จะนำตัวเลขของสายอื่นมาเปรียบเทียบอีกครั้ง เพื่อให้ดูว่าเหตุใด กทม. จึงเสนอการเก็บเงินส่วนต่อขยายที่ปัจจุบันยังไม่ได้เก็บส่วนนี้

หลังหมดสัมปทานปี 2572 สภาผู้บริโภคชี้ 25 บาทตลอดสายทำได้

อีกประเด็นที่สภาองค์กรของผู้บริโภคเสนอ คือ การแก้ไขสัญญาเดินรถที่มีการผูกพันไปถึงปี 2585

น.ส. สารี กล่าวว่า นี่เป็นการทำสัมปทานที่เกิดขึ้นก่อนหน้านายชัชชาติเข้ามาเป็นผู้ว่าฯ กทม. โดยสัญญาเดิมจะหมดในปี 2572 ทว่ามีการไปจ้างเดินรถเกินสัญญาสัมปทานหลัก คือ ปี 2585 ทางสภาฯ เห็นว่า หากยกเลิกการเดินรถที่เกินสัญญาสัมปทานได้ ก็มีโอกาสที่สัญญาสัมปทานใหม่ ก็น่าจะได้ราคาค่าโดยสารที่เป็นมิตรกับบริโภค โดยให้ใช้การประมูลจ้างเดินรถหรือทำสัญญา PPP กับเอกชนแยกเป็น 2 ส่วน คือ สัญญาให้บริการ กับสัญญาหาประโยชน์

"เสนอว่าหลังหมดสัญญาสัมปทานให้เป็นราคาที่ 25 บาท เป็นราคาที่สภาองค์กรของผู้บริโภคมั่นใจว่าทำได้จริง"

ประเด็นการเปิดสัญญาสัมปทานที่ กทม. ทำไว้กับเอกชน ช่วง 2572-2585 เป็นเรื่องที่มีการกล่าวถึงมาโดยตลอดนับตั้งแต่เปิดปัญหาสัมปทานการเดินรถไฟฟ้า นายชัชชาติกล่าวว่า ขณะนี้ได้สัญญาตัวดังกล่าวมาแล้ว ซึ่งมีการเขียนว่าห้ามเปิดเผย แต่จะไปตรวจสอบว่า กทม. มีสิทธิเปิดเผยได้หรือไม่เพื่อความโปร่งใส เขาบอกด้วยว่า ปัญหาหลักขณะนี้ คือการจ้างเดินรถ 2572-2585 ซึ่งมีการเซ็นล่วงหน้าไปนานแล้วและเป็นภาระทางงบประมาณของ กทม.

"อันนี้เป็นค่าใช้จ่ายที่เรามองว่าราคาค่อนข้างสูง อยู่ประมาณ 10,000 กว่าล้านต่อปี ตรงนี้เป็นกรอบค้ำคอเราอยู่ มันทำให้เราขยับตัวยาก"

ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวถึงปมปัญหาการต่อสัมปทานดังกล่าวว่า กำลังพิจารณาหาทางเรื่องนี้ ทำอย่างไรให้เมื่อถึงปี 2572 กลับมาให้ระบบประมูลสร้างการแข่งขันเพื่อให้ได้ราคาที่เป็นธรรม

ค่าบริการขนส่งสาธารณะที่รัฐต้องอุดหนุน กับภาระหนี้ของ กทม.

น.ส. สารี กล่าวด้วยว่า ประเด็นการคิดค่าโดยสารขนส่งสาธารณะ ไม่ว่ารัฐบาลหรือกรุงเทพมหานคร ต้องอุดหนุนให้กับประชาชน โดยนายชัชชาติกล่าวว่า ขอฝากประเด็นเรื่องค่าก่อสร้างโครงสร้างรถไฟฟ้าให้รัฐบาลสนับสนุนด้วย

"เวลาเราคิดเวลารถโดยสารสาธารณะ หรือรถไฟฟ้า เราจะติดตามราคาที่เราลงทุนไม่ได้ คือทั่วโลก ไม่มีใครใช้ราคาลงทุนจริงมากำหนดให้ผู้ริโภคจ่าย ไม่งั้นเยอรมันคงทำไม่ได้ 330 ต่อเดือน รัฐบาลเขาอุดหนุนทั้งนั้น เพราะฉะนั้น กทม. จะอุดหนุน หรือ รัฐบาลจะอุดหนุน ก็เป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการท่ามกลางวิกฤตของผู้บริโภคในปัจจุบัน" น.ส. สารี ระบุ

getty

ที่มาของภาพ, Getty Images

ก่อนหน้านี้ นายชัชชาติให้ข้อมูลเมื่อวันที่ 27 มิ.ย. ว่า ปัจจุบันรถไฟฟ้าสายสีเขียวมีหนี้ส่วนต่อขยายราว 100,000 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีหนี้โครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาล แบ่งเป็นหนี้วางระบบ ขณะที่หนี้ของรัฐบาลเป็นหนี้วางระบบรถ ประมาณ 19,000 ล้านบาท และหนี้ค่าจ้างเดินรถ อีก 13,000 ล้านบาท ทำให้ กทม. ต้องมาพิจารณา 2 ส่วน ได้แก่ การคิดอัตราค่าโดยสารที่ไม่ได้ขึ้นมานานหลายปี และการต่อสัญญาสัมปทาน

ผู้ว่าฯ กทม. ยังรับข้อเสนอของสภาผู้บริโภคที่เสนอให้ทางบริษัทบีทีเอส นำระบบตั๋วเดือน และตั๋วนักเรียน กลับมาใช้อีกครั้ง ซึ่งชัชชาติรับปากว่าจะไปเจรจา

รถไฟฟ้าสายสีเขียว ชัชชาติ และ ส.ส. ภูมิใจไทย

ประเด็นการเคาะราคารถไฟฟ้าสายสีเขียว ตลอดสายสูงสุด 59 บาท ทำให้ นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ส.ส.ศรีสะเกษ พรรคภูมิใจไทย ออกมาทวงสัญญาที่ชัชชาติเคยกล่าวไว้ในเวทีเสวนาของสภาองค์กรของผู้บริโภค ที่ระบุว่า ราคาค่าโดยสารเป็นไปได้จะอยู่ที่ 25-30 บาท

"ท่านระบุว่าราคาค่าโดยสารเป็นไปได้จะอยู่ที่ 25-30 บาท นั่นเท่ากับว่าท่านน่าจะมีแนวทางให้เป็นไปตามราคานี้แล้ว ไม่อย่างนั้น ท่านคงไม่พูดออกมา ตอนนี้โอกาสมา ก็ขอให้ทำเลย เพื่อความสุขพี่น้องประชาชน"

การออกมากล่าวของ ส.ส.ภูมิใจไทย ทำให้ชัชชาติ ย้ำอีกครั้งว่า ราคา 59 บาท เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าก่อนที่สัญญาสัมปทานจะหมดในปี 2572

"เราไม่อยากจะให้ค่าโดยสารเกินที่มีอยู่ในระดับสูงสุดเพื่อไม่ให้ประชาชนเดือดร้อน ที่พูด 59 บาทไม่ได้เกี่ยวอะไรกับช่วงนั้น (ระหว่างหาเสียง) อันนี้เป็นระยะช่วงสั้นเพื่อแก้ปัญหาส่วนต่อขยาย 2 ส่วนที่ไม่เคยเก็บเงินมาหลายปีแล้ว แต่ต้องจ้างเดินรถ นั่งฟรี แต่ไม่ใช่วิ่งฟรี เพราะต้องจ่ายค่าเดินรถตลอด ผมว่าก็เป็นหลายพันล้านต่อปี เพราะฉะนั้น อันนี้ 59 บาท ไม่ได้เกี่ยวกับระยะยาว ระยะยาว คือต้องดู 30 ปี 50 ปี ระยะยาวต้องดูสัมปทานหลังปี 72 อีกเรื่องหนึ่ง อันนี้คือแก้ปัญหาเฉพาะหน้า" ชัชชาติ ระบุเมื่อ 28 มิ.ย.