เรื่องการโพสต์รูปหรือเรื่องราวของลูกบนโซเชียล ที่กำลังเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์กันในขณะนี้ สำหรับผู้เขียนคิดว่านับเป็นเรื่องดีที่มีตัวอย่างของพ่อแม่ที่ตระหนักและใส่ใจต่อเรื่องสิทธิของเด็ก และทำหน้าที่ปกป้องสิทธิของลูกตนอย่างเต็มที่ แม้พ่อแม่จะเป็นผู้ให้กำเนิดและเป็นผู้ดูแลเด็ก แต่ใช่ว่าพ่อแม่จะมีสิทธิทำทุกอย่างเกี่ยวกับลูกของตนเอง เพราะเด็กๆ มีสิทธิเป็นของตนเอง มีสิทธิส่วนบุคคล ที่มีกฎหมาย*รับรองและปกป้องคุ้มครองเช่นเดียวกับผู้ใหญ่

ดังนั้นการที่พ่อแม่จะทำสิ่งใดที่เกี่ยวข้องกับลูกหรือเด็กในความดูแล ควรได้รับความยินยอม ได้รับการอนุญาตหรือความยินยอมจากเด็กด้วย หรือให้เด็กมีส่วนร่วมในการตัดสินใจกระทำนั้นๆ ด้วยตนเอง และพ่อแม่ควรคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดที่จะเกิดขึ้นกับเด็กเป็นสำคัญ  กรณีการโพสต์รูปหรือเรื่องราวของลูกลงบนสื่อออนไลน์ โซเชียลมีเดีย ก็เช่นเดียวกัน

แต่หากพ่อแม่หรือผู้ปกครองอยากแบ่งปัน หรือเก็บไว้ในความทรงจำ จะโพสต์อย่างไรไม่ให้เป็นการละเมิดต่อสิทธิของเด็ก ไม่ละเมิดต่อความเป็นส่วนตัวของเด็ก และไม่ให้เด็กถูกล้อเลียนภายหลัง  มีข้อแนะนำดังนี้

 สิ่งที่ควรทำ (DO)

  • ตั้งสติ คิดก่อนโพสต์ :  ก่อนจะโพสต์ให้คิดเสมอว่าโพสต์รูปนี้ หรือเรื่องราวนี้เพื่ออะไร เพื่อใคร เกิดประโยชน์อะไรกับลูก หรือในอนาคตจะเกิดผลกระทบอะไรกับลูกบ้าง  และอย่าลืมว่าสิ่งที่โพสต์ลงโลกออนไลน์มันจะอยู่ไปตลอดกาลแม้เราจะลบออกแล้ว แต่ก็สามารถค้นหาได้เสมอ
  • ต้องขออนุญาตและได้รับคำยินยอมจากลูกก่อนทุกครั้ง ถ้าลูกอยู่ในวัยที่สามารถสื่อสารและรับรู้ได้ถึงผลที่จะเกิดขึ้น หากลูกไม่ยินยอมก็ไม่ควรโพสต์  แต่ถ้าลูกยังเล็กเกินไปเป็นหน้าที่ของพ่อแม่ที่จะต้องปกป้องลูกของตนเอง คิดถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับลูกเสมอ
  • เปลี่ยนมุมมองใหม่ในการถ่ายภาพ เช่น ถ่ายภาพผลงานที่ลูกทำเสร็จ ภาพถ่ายจากมุมด้านหลัง/ด้านข้าง ถ่ายมือลูกขณะทำกิจกรรม ไม่ต้องลงรูปหน้าลูกตรงๆ
  • ใช้ภาพกราฟิกหรือการ์ตูน ประกอบเรื่องก็ได้ แทนการใช้รูปจริงของลูก
  • แบ่งปันแต่เรื่องราวดีๆ บวกๆ ของลูก แม้จะเป็นเรื่องดี แต่ก็ควรถามความรู้สึกลูกก่อนเสมอ บางครั้งพ่อแม่คิดว่าเป็นเรื่องน่ารัก อยากชื่นชมและให้คนอื่นชื่นชมลูกด้วย แต่บางครั้งมันอาจจะกลายเป็นการกดดันหรือการคาดหวังที่ลูกอาจจะไม่ชอบก็ได้
  • ตั้งสถานะของโพสต์ เป็นแบบส่วนตัว หรือให้เฉพาะเพื่อนสนิท หรือคนในครอบครัว ที่มีแต่คนรู้จักเท่านั้นจะเห็นข้อมูลหรือภาพนี้
  • ลดการเช็คอิน สถานที่ต่างๆ เพื่อป้องกันมิจฉาชีพตามติด

สิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงหรือไม่ควรทำ (Don’t)

  • หลีกเลี่ยงการโพสต์รูปหน้าเด็กตรงๆ หรือรูปที่เห็นใบหน้าเด็กชัดเจน จนรู้ว่าเป็นใคร
  • ไม่เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับตัวเด็ก ชื่อ อายุ ที่อยู่ โรงเรียน ที่ระบุว่าเด็กเป็นใคร อยู่ที่ไหน เพื่อป้องกันมิจฉาชีพบุกถึงตัวเด็ก
  • ไม่โพสต์รูปที่ทำให้เด็กรู้สึกแย่ เช่น ลูกร้องไห้ เด็กทำหน้าตาหรือท่าทางตลกน่าขบขัน พ่อแม่อาจคิดว่าน่ารัก แต่สำหรับเด็กอาจไม่ใช่ เพราะเด็กๆ จะถูกล้อเลียนจากเพื่อนหรือคนรู้จัก และจะกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวันของเด็กได้
  • ไม่โพสต์รูปลูกขณะอาบน้ำ หรือ ไม่สวมเสื้อผ้า
  • หลีกเลี่ยงการโพสต์รูป ที่มีรูปเด็กคนอื่นติดอยู่ในภาพด้วย เพื่อไม่ละเมิดต่อสิทธิเด็กคนอื่นเช่นกัน

#ผู้พิทักษ์เด็กคุณก็เป็นได้

#ถามลูกก่อนโพสต์

**การนิยามคำว่า “เด็ก” ตามกฎหมาย หมายถึง บุคคลซึ่งมีอายุต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ แต่ไม่รวมถึงผู้ที่บรรลุนิติภาวะด้วยการสมรส โดยสิทธิของเด็กตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ได้รับรองไว้ใน 2 มาตราสำคัญ ได้แก่

มาตรา 32

“บุคคลย่อมมีสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว เกียรติยศ ชื่อเสียง และครอบครัว การกระทำอันเป็นการละเมิดหรือกระทบต่อสิทธิของบุคคลตามวรรคหนึ่ง หรือการนำข้อมูลส่วนบุคคล ไปใช้ประโยชน์ไม่ว่าในทางใด ๆ จะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้น เพียงเท่าที่จำเป็นเพื่อประโยชน์สาธารณะ”

มาตรา 71 วรรคสาม

“รัฐพึงให้ความช่วยเหลือเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ ผู้ยากไร้ และ ผู้ด้อยโอกาสให้สามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ และคุ้มครองป้องกันมิให้บุคคลดังกล่าวถูกใช้ความรุนแรง หรือปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม รวมตลอดทั้งให้การบำบัด ฟื้นฟูและเยียวยาผู้ถูกกระทำการดังกล่าว”

นอกเหนือจากการปกป้องคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญแล้ว ประเทศไทยยังมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสิทธิเด็กสำคัญหลายฉบับ ได้แก่

o พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 ระบุไว้อย่างชัดเจนใน มาตรา 22 ว่า “การปฏิบัติต่อเด็กไม่ว่ากรณีใด ให้คำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นสำคัญและไม่ให้มีการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม”

o พระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553

o พระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาและคุ้มครองสถาบันครอบครัว พ.ศ. 2562

o พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560

: 285